ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีปัญหาชีวิตรุมเร้าแล้วเราจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง? มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่รู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้าหรือรู้สึกสิ้นหวังกับการรักษา การกินยา และต้องเผชิญปัญหาในชีวิตมากมายจนไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปได้ยังไง หลายคนมีความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนอยากจะหายไปจากโลกใบนี้ บางคนมองไม่เห็นทางว่าจะหายป่วยได้หรือวนลูปจมอยู่กับปัญหาชีวิตที่ติดขัด ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านได้อย่างที่ควรจะเป็น จีเห็นว่า กรณีศึกษา โรคซึมเศร้า เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นพลัง นี้ เป็นประโยชน์และอาจสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่กำลังต่อสู้อยู่กับโรคซึมเศร้าและปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งจะช่วยเป็นแนวทางให้เพื่อน ๆ ได้เข้าใจมากขึ้นด้วยว่า สาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนั้นมีมากมาย และการใช้ยารักษาอย่างเดียวก็ไม่อาจเยียวยาแก้ไขปัญหาทางด้านจิตใจ หรือจิตสังคมได้

น้องเมย์ (นามสมมติ) ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและกินยารักษามาประมาณปีกว่า น้องทักมาทาง เพจเยียวยารักษาใจ : Heal your mind by GG หลังจากที่สั่งซื้อ ทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Meb Market เพราะสนใจแนวทางการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าในแบบของจี  โดยเฉพาะการเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึกออนไลน์ น้องเมย์อาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย น้องบอกว่ารักษาด้วยยาจนเริ่มมีอาการทรงตัวมากขึ้นแล้ว คุณหมอบอกว่าถ้าอาการทรงตัวแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อีกประมาณ 6-8  เดือนก็จะสามารถหยุดยาได้ น้องจึงมองหาการเยียวยาบำบัดและพัฒนาตนเอง ซึ่งตอนนั้นน้องฝึกสมาธิ ฝึกสติ ใช้ธรรมะในการเยียวยาประคับประคองกายใจตัวเอง หลังจากที่ได้พูดคุยกันน้องตัดสินใจเลือก เพื่อเรียนรู้การดูแลเยียวยาและพัฒนาตัวเองไปด้วยกันกับจีต่อเนื่องสามเดือน

ค้นหาสาเหตุของโรคซึมเศร้าและทำความเข้าใจตัวเอง

จากเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตคร่าว ๆ ที่น้องได้เล่าให้ฟัง น้องเมย์เป็นคนที่มีศักยภาพมากมาย และเรียกได้ว่าเป็นคนสู้ชีวิตคนหนึ่ง แต่ด้วยประสบการณ์ในวัยเด็กที่เจ็บปวดและประสบการณ์ชีวิตด้านลบที่ผ่านมา มันสร้าง ปมในใจหรือบาดแผลทางใจ และส่งผลให้น้องสะสมความเครียดเรื้อรังจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า  น้องเมย์เล่าว่าพ่อแม่หย่ากัน น้องจึงอยู่กับย่าตั้งแต่อายุ 2 เดือน พ่อเป็นคนส่งเสียดูแล แต่ปัญหาชีวิตภายในครอบครัวมากมายสร้างปมปัญหาขัดแย้งภายในใจให้กับน้อง และส่งผลต่อรูปแบบทางความคิด บุคลิกภาพ รวมทั้งรูปแบบในการใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้ น้องเมย์บอกว่าเคยทำร้ายร่างกายตัวเองตั้งแต่เด็ก ตอนป่วยก็เคยทำร้ายตัวเองและคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว น้องเมย์มีบุคลิกภาพขี้กังวล เครียดง่าย อ่อนไหวง่าย และมีความเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) มองเห็นคุณค่าในตนเองน้อยลงหรือมี Low self-esteem อีกทั้งพี่สาวของเธอก็มีประวัติเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย

สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องและส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นมีมากมาย แต่หลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดคิดว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้านั้น แค่เกิดจากสารเคมีในสมองเสียสมดุล แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แค่นั้น นั่นไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงและเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น หากลองเปิดใจเรียนรู้ไปกับกรณีศึกษาของน้องเมย์ จะเห็นได้ว่ากว่าน้องจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย และประเด็นที่สำคัญที่ขับเคลื่อนมาตลอดก็คือ ความเครียดเรื้อรัง ซึ่งความเครียดเรื้อรังที่เป็นปมปัญหาขัดแย้งภายในใจ โดยเฉพาะในวัยเด็กนั้นเป็นความเครียดที่เกิดจากความขัดแย้งที่ไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้ในระดับความคิด มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนพยายามเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ดีที่เป็นอัตโนมัติ ส่วนใหญ่ที่พบก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้อย่างที่ตั้งใจ เพราะต้นตอที่ฝังลึกอยู่ภายในใจยังคงมีอยู่ และยังไม่เคยได้รับการเยียวยาแก้ไข ซึ่งหลายคนอาจจะมองข้ามปัจจัยนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่หลายคนไม่อาจหายป่วยหรือกลับมาป่วยซ้ำอีก เพราะความขัดแย้งที่สร้างความเครียดที่อยู่ส่วนลึกภายในจิตใจนั้นยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างถูกต้องและเหมาะสมนั่นเอง

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : เมื่อสาเหตุของโรคซึมเศร้า ไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ

เริ่มต้นการเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต

หลังจากที่น้องเมย์ได้ตัดสินใจอนุญาตให้จีได้เข้าไปช่วยดูแลส่วนตัว และเรียนรู้การเยียวยาพัฒนาตนเองใน คอร์สเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต จีได้เริ่มต้นแพลนแนวทางที่จะช่วยในการเยียวยารักษาใจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของน้องเมย์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราโทรไลน์พูดคุยและเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึกกันทุกสัปดาห์ รวมทั้งแชทพูดคุยทางไลน์ส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง แนวทางการเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ในคอร์สดูแลส่วนตัวต่อเนื่อง 3 เดือนที่จีออกแบบไว้ จะเป็นกระบวนการในการเยียวยาบำบัดแบบพูดคุย และการเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก รวมทั้งมี Workshop ให้ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองของน้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่ม self-esteem เพื่อมองเห็นคุณค่าในตนเอง รักและเมตตาตัวเองให้เป็น และมั่นใจในตัวเองที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ดีขึ้น รวมทั้งปรับมุมมองทางความคิด (Mindset)  ปรับบุคลิกภาพและวิถีชีวิตให้สมดุล เพื่อช่วยให้น้องลดการใช้ยาลง และสามารถที่จะหยดุยาได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่สามารถป้องกันการกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำในอนาคตอีกด้วย

แต่ในช่วงเวลานั้น น้องเมย์มีปัญหาในชีวิตมากมายที่ต้องเผชิญ น้องไม่สามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ตามปกติ จำเป็นต้องดร็อปหรือหยุดพักการเรียนไว้ก่อน แต่น้องยังคงต้องทำงานและเป็นงานเสริฟที่ร้านอาหารช่วงกลางคืน ทำให้การนอนของน้องไม่มีคุณภาพ และยิ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วยแล้ว การทำงานของสมอง ร่างกายและจิตใจยิ่งรวนหนักไปอีก น้องมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทั้งกับแฟน คนในครอบครัวที่ยังคงเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่รบกวนและบั่นทอนชีวิตจิตใจ รวมทั้งต้องเผชิญปัญหาในที่ทำงาน จนรู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้า แต่โชคดีที่น้องยังมีสติประคับประคองตัวเองได้อยู่ จีจึงเริ่มให้น้องค่อย ๆ ปรับสมดุลชีวิตและจิตใจตามแนวทาง เยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าแบบองค์รวม และนัดหมายการโทรพูดคุยเพื่อให้น้องได้ระบายอารมณ์ความรู้สึก และติดตามอาการ รวมทั้งนัดหมายในการเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก เพื่อช่วยเคลียร์พลังงานลบ (Trapped Emotion) ที่ตกค้างและฉุดรั้งชีวิตจิตใจ และเป็นกำลังใจให้น้องค่อย ๆ เริ่มต้นปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างสมดุลชีวิตจิตใจได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

เยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก เคลียร์ปมปัญหาข้ดแย้งภายในใจ

คนเราทุกคนอาจมีความทรงจำในวัยเด็กที่ไม่ค่อยดี แต่สำหรับคนที่มีปมปัญหาขัดแย้งภายในใจแล้วไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขนั้น มักจะไม่ค่อยมีความสุขในชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น มองไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง และมักจะมีปัญหาชีวิตในปัจจุบันที่ติดขัด เจอปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ นั่นก็เป็นเพราะความทรงจำหรือปมปัญหานั้น คอยขับเคลื่อนชีวิตเราให้ไปในทิศทางที่เราไม่ต้องการ จีได้ช่วยเยียวยาปมปัญหาขัดแย้งภายในใจให้น้องเมย์ ซึ่งพบปมปัญหามากมายและความรู้สึกด้านลบที่เธอได้เก็บกดมันเอาไว้จนความรู้สึกท่วมท้นและเจ็บปวด เมื่อพาไปเจอปมในครั้งแรกก็แทบทนความเจ็บปวดนั้นไม่ไหว หลังจากที่ทยอย เคลียร์พลังงานลบ (Trapped Emotion) คลายปมปัญหาและความขัดแย้งภายในใจ ก็ส่งผลให้น้องเมย์มีพลังดี ๆ ในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น

อารมณ์ความรู้สึกด้านลบที่คนเราเก็บกดสะสมเอาไว้ จนฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึกนั้น มีมากมายเกินกว่าที่เราจะสามารถรับรู้ จดจำหรือสัมผัสได้ เพราะมันเป็นจิตส่วนลึกที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ในระดับความคิด การพาลงกระบวนการเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก กลับไปเยียวยาปมหรือบาดแผลทางใจในอดีตหรือช่วงวัยเด็กและช่วงที่เราเกิดประสบการณ์ไม่ดีในชีวิต จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกภายในใจของเรา และช่วยให้มุมมองในการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจสิ่งที่เผชิญได้มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้คุณภาพและชีวิตและจิตใจของเราดีขึ้นได้อีกด้วย

เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นพลัง เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตใหม่

จากการรับรู้เรื่องราว ความรู้สึกนึกคิด ปัญหาชีวิตและสิ่งที่น้องเมย์ต้องเผชิญตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน จีนับถือหัวใจของน้องมาก รู้สึกว่าน้องสู้หนักมาก และรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดลึก ๆ อยู่ภายในจิตใจ ที่น้องเก็บกดปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้หรือพยายามที่จะไม่ใส่ใจกับมัน แต่ในช่วงเวลาที่เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ความรู้สึกเหล่านั้นจะถูกเปิดเผยหรือผุดขึ้นมา และเป็นพลังงานลบที่สามารถฉุดรั้ง สร้างปัญหาชีวิตติดขัด รวมถึงส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจซึ่งเป็นสาเหตุปัจจัยหนึ่งที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง พลังความรู้สึกด้านลบที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกหรือจิตส่วนลึกในจิตใจเรานั้น เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งชีวิตจิตใจ และเป็นตัวขับเคลื่อนความคิดและพฤติกรรมอัตโนมัติของคนเรา ที่บางเรื่องไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้ในระดับความคิด หลายคนพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเอง แต่ก็ทำไม่สำเร็จ

กระบวนการเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึกนี้ จะช่วยเข้าไปเยียวยาแก้ไขต้นตอของปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ชีวิตติดขัด ไม่มีความสุข และสามารถที่จะเปลี่ยนพลังงานลบ  ๆ เหล่านั้นให้เป็นพลังดี ๆ พลังบวก ปลดล็อคปมปัญหาภายในใจ เปลี่ยนแปลงโลกภายในใจเรา แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวเราเองและชีวิตจิตใจเราได้อย่างมากมาย น้องเมย์ได้ส่งข้อความมาอัพเดทชีวิตจิตใจล่าสุดหลังจากจบคอร์สเยียวยานี้ไปพักใหญ่ น้องบอกว่าได้ตัดสินใจเปลี่ยนสายการเรียนจากบัญชีมาเป็นเรียนจิตวิทยาแทน เพื่อทำตามความฝันและปณิธานที่เราเคยคุยกันไว้ ซึ่งสร้างความยินดี ดีใจและมหัศจรรย์ใจให้กับจีในเรื่องนี้ และหลาย ๆ เรื่องในชีวิตของน้องที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และในที่สุดน้องก็สามารถหยุดการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า ได้ตามแพลนการรักษาด้วยยาอย่างที่ตั้งใจไว้อีกด้วย

ข้อคิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้

1.ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่มีความเครียดเรื้อรังที่เป็นปมปัญหาขัดแย้งภายในใจวัยเด็กที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก  ถึงแม้จะกินยาจนอาการทรงตัวแล้ว แต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าถูกกระตุ้นให้รู้สึกกลับไปดิ่งได้ง่าย อาการจะขึ้น ๆ ลง ๆ และจะรู้สึกว่าไม่มีความสุขกับชีวิต วนลูปอยู่กับปัญหาเดิมซ้ำ ๆ หรือรู้สึกสูญเสียตัวตน หากยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขทางด้านจิตใจ สาเหตุหรือปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นนั้นก็จะยังคงอยู่ การรักษาก็อาจต้องใช้เวลายาวนาน หรือเมื่อหยุดยาได้แล้วหากมีเหตุการณ์อะไรที่กระทบใจรุนแรงแล้วไม่สามารถรับมือและจัดการได้ ก็มีโอกาสกลับมาป่วยซ้ำได้สูง

2.ปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ โดยเฉพาะคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบหรือเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์ (Perfectionist) คนที่มีนิสัยใจร้อน นิสัยสุดโต่ง (หลายคนไม่รู้ตัวว่ามีบุคลิกภาพแบบนี้) และคนที่มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-esteem) มีปมปัญหาขัดแย้งภายในใจในวัยเด็ก หรือความเครียดเรื้อรังสะสมมายาวนานกับปัญหาชีวิต ประเด็นปัญหาเหล่านี้ล้วนสำคัญและมักจะถูกมองข้ามไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข จึงทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่สามารถหายป่วยจากโรคได้และต้องกินยารักษาอย่างยาวนานเกินเหตุ หรือบางคนหยุดยาได้แล้วก็กลับมาป่วยซ้ำได้ง่ายมากและรุนแรงกว่าเดิมอีกด้วย จีก็เคยเป็นคนหนึ่งในนั้นค่ะ

3. เมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ประเด็นสำคัญผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการเยียวยาบำบัดจิตใจและจิตสังคม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวปรับใจ ปรับทัศนคติที่มีต่อโรค จึงทำให้การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าไม่มีประสิทธิภาพและได้ผลดีอย่างที่ควรจะเป็น หลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ในช่วงกินยาแล้วอาการดีขึ้นก็ใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่พอต้องพบเจอกับสถานการณ์ชีวิตที่รู้สึกเครียด กดดันหรือมีเหตุการณ์มากระทบใจ ซึ่งอาจมีปมปัญหาภายในใจก็จะทำให้อาการกำเริบ หากปล่อยไว้จะรู้สึกดิ่งหรือดาวน์ แล้วก็กลับไปวนลูปเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เช่นนั้น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : “โรคซึมเศร้า” ในคนที่ยังทำงานได้ดี

4. จากประสบการณ์การดูแลเยียวยาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชมากมายที่ผ่านมา จีพบว่าผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กที่ไม่ดี มีปมปัญหาหรือบาดแผลทางใจ มีความเครียดเรื้อรังสะสมมายาวนาน จนถึงจุดหนึ่งส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้น มักจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง และเข้าไม่ถึงการเยียวยาบำบัดจิตใจในส่วนลึกที่ยังกระตุ้นหรือส่งผลให้ชีวิตปัจจุบันมีปัญหาชีวิตติดขัด หลายคนที่จีได้ติดตามอาการและยังไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้เพื่อเยียวยาต้นตอของปัญหาหรือรากของโรค บ่อยครั้งพบว่ามีอาการไบโพลาร์ร่วมด้วย เวลาที่รู้สึกดิ่งจะวนลูปและดิ่งมากจนคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือหรือเยียวยาเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย หากผู้ป่วยไม่ยอมเปิดใจหรือยอมให้ความร่วมมือในการเยียวยาบำบัด

5. นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้ ให้คุณค่าหรือความสำคัญกับเรื่องงานและเรื่องบางอย่างในชีวิตด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป จนทำให้ละเลยที่จะดูแลใส่ใจตัวเองในด้านอื่น ๆ ทำให้ขาดสมดุลชีวิตจิตใจ การเยียวยาฟื้นฟูกายใจเพื่อปรับสมดุลชีวิตก็เป็นเรื่องไม่ง่าย มันก็เชื่อมโยงไปกับการหายป่วยที่ไม่ง่ายเช่นกัน หากเรายังไม่ยอมรับว่าเรามีปัญหาบางอย่าง ที่เราต้องเปิดใจเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย

ขอบคุณน้องเมย์ (นามสมมติ) ที่อนุญาตให้แชร์ประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจเพื่อผู้อื่นต่อไป และขอบคุณสำหรับกำลังใจ รวมทั้งความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีงามที่มีให้กันเสมอมา ขอให้น้องมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตดั่งที่ใจปรารถนา และขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ก้าวข้ามผ่านมันไปได้เช่นกันค่ะ

All Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้า (เพื่อลดยาและหยุดยา)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here