คุณอยากมีสุขภาพกายใจที่ดี มีชีวิตที่มีความสุขและลื่นไหลมากขึ้นไหม? จีขอแนะนำให้คุณลองมาทำความเข้าใจและทำความรู้จักเกี่ยวกับเรื่องจักระกันค่ะ เมื่อก่อนจีก็เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องจักระบ่อย ๆ แต่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจหรือทำความเข้าใจอย่างจริงจัง จนกระทั่งเกิดความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าแล้วรักษาด้วยยาไม่หาย จีจึงได้เรียนรู้การเยียวยาบำบัดตัวเองด้วยธรรมขาติบำบัดแล้วหันมาสนใจเรื่องของจักระมากขึ้น ด้วยการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมและได้เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อฝึกเยียวยาปรับสมดุลกายใจ และพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองด้วย การฝึกปรับสมดุลและล้างจักระรวมถึง การเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ช่วยให้จีมีสุขภาพดีมีชีวิตที่มีความสุขและลื่นไหลไม่ติดขัดกับปัญหาชีวิตและสุขภาพกายใจเหมือนเมื่อก่อน จักระคืออะไร? มาทำความรู้จักไว้เพื่อเยียวยาสุขภาพกายใจกันค่ะ
จักระ (Chakra) คืออะไร?
คำว่า “จักระ” มาจากภาษาสันสกฤต ความหมายคือวงล้อ (Wheel) จักระก็คือวงล้อที่เป็นศูนย์รวมพลังงานอันละเอียดอ่อนในร่างกายของมนุษย์ (Subtle Body) ซึ่งอยู่ในจุดต่าง ๆ ของร่างกายแล้วทำงานแบบหมุนวนในลักษณะตามเข็มนาฬิกาด้วยความถี่ที่แตกต่างกันไป โดยสัมพันธ์กับลมหายใจเข้าออกของเรา แต่ละจักระจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบการทำงานของอวัยวะที่อยู่บริเวณใกล้เคียง รวมทั้งเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของเราแล้วยังสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจของมนุษย์เราอีกด้วย ทางศาสนาฮินดูหรือโยคีเชื่อว่าจักระที่สำคัญของมนุษยะรานั้นมีอยู่ 7 จักระ ซึ่งแต่ละจักระนั้นจะดูแลและควบคุมการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายให้เป็นปกติ
ศาสตร์จักระนี้มีมายาวนานราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาลในอินเดีย แต่เพิ่งมาเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อมีการนำมาประยุกต์ใช้กับการฝึกโยคะ เพื่อดูแลกายใจให้กับสู่สมดุล ซึ่งร่างกายของมนุษย์เรานั้นประกอบด้วยอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า หากกระแสไฟฟ้าในร่างกายโคจรได้คล่องและลื่นไหลผ่านตำแหน่งของจักระที่สำคัญในร่างกายของเราได้ดี ร่างกายและจิตใจของเราก็จะดีงามตามไปด้วย
จักระทั้ง 7 วงล้อที่หมุนคืนความสมดุลสู่ร่างกาย
ตำแหน่งของจักระทั้ง 7 เริ่มจากฐานล่างสุดไล่เรียงขึ้นไปผ่านลำตัวจนไปจบที่กลางศีรษะ จำแนกเป็น 7 สี
Root Chakra – Honors the earth คือ จักระที่ 1 ชื่อภาษาสันสกฤต คือ มูลธาร (Muladhara) เป็นรากฐานของระบบจักระ และเป็นพื้นฐานของพลังชีวิต ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ตรงปลายสุดของกระดูกสันหลังบริเวณก้นกบ แทนด้วยสีแดง สื่อถึงความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย สัมพันธ์กับอวัยวะต่อมลูกหมาก เพศ และระบบขับถ่าย
Sacral Chakra – Honors the creative คือ จักระที่ 2 ชื่อภาษาสันสกฤต สวาธิษฐาน (Svadhisthana) เป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับพลังงานทางเพศ และความเชื่อมั่นในตนเอง ตำแหน่งอยู่บริเวณสามนิ้วนับจากสะดือลงไป แทนด้วยสีส้ม สื่อถึงความรู้สึกสมดุลทางอารมณ์ ความรู้สึก ความปรารถนา และความคิดสร้างสรรค์ สัมพันธ์กับตับบางส่วน ไต ม้าม ตับอ่อน และมดลูก
Solar plexus Chakra – Honors the life force คือ จักระที่ 3 ชื่อภาษาสันสกฤต มณีปุระ (Manipura) เป็นจุดศูนย์กลางของร่างกาย ควบคุมระบบทางเดินอาหารทั้งหมด ทั้งการย่อยอาหารและการขับถ่ายของเสีย ตำแหน่งบริเวณสะดือ แทนด้วยสีเหลือง คือเรื่องของแรงขับเคลื่อน ความมั่นใจ และพลังในตัวเอง สัมพันธ์กับกระเพาะอาหาร และตับบางส่วน
Heart Chakra – Honors the heart คือ จักระที่ 4 ชื่อภาษาสันสกฤต อนาหตะ (Anahata) เป็นศูนย์รวมของความรักที่แท้จริง ความเมตตากรุณา ความเสียสละ ตำแหน่งบริเวณหน้าอก แทนด้วยสีเขียว สื่อถึงความรัก ความอ่อนโยน ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ สัมพันธ์กับหัวใจ การหายใจ
Throat Chakra – Honors the communication คือ จักระที่ 5 ชื่อภาษาสันสกฤต วิสุทธิ (Vishuddhi) เป็นจักระที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อยู่ตรงต่อมไธรอยด์ บริเวณคอ แทนด้วยสีฟ้า สื่อถึงการสื่อสาร การพูดคุย การมีปฏิสัมพันธ์ ซึ่งสัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์ คอ แขน ปาก ลิ้น หน้า มือ ไหล่
Third Eye Chakra – Honors the psychic คือ จักระที่ 6 ชื่อภาษาสันสกฤต อาชญะ (Ajna) เป็นจักระที่เปรียบเหมือนดวงตาแห่งปัญญา อยู่บริเวณหว่างคิ้วและหน้าผาก (ตามความเชื่อที่ว่าเป็นตำแหน่งที่มีดวงตาที่สาม) แทนด้วยสีครามหรือสีน้ำเงินม่วง คือการรับรู้ สัญชาตญาณ และจินตนาการ สัมพันธ์เชื่อมโยงกับต่อม pineal & pituitary การมองเห็น การได้ยิน ความคิด ความมีเงื่อนไข มีคุณสมบัติ เกี่ยวกับการให้อภัย ควบคุมอัตตา (ego) และความมีเงื่อนไข (super ego)
Crown Chakra – Honors spiritual คือ จักระที่ 7 ชื่อภาษาสันสกฤต สหัสราระ ( Sahasrara) เป็นศูนย์กลางควบคุมทุกจักระในร่างกาย เป็นจุดรับพลังจักรวาลและกระจายไปทั่วร่างกาย อยุ่บริเวณเหนือสุดกลางศีรษะหรือกระหม่อม แทนด้วยสีม่วง/สีขาว สัมพันธ์กับสมองส่วนกลาง มีคุณสมบัติ เกี่ยวกับการตระหนักรู้ในตนเอง และความฉลาดหลักแหลม
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อจักระขาดสมดุล?
จากข้อมูลของจักระทั้ง 7 ตำแหน่งนั้น จะเห็นได้ว่าทุกจุดล้วนเชื่อมโยงกับจิตใจเรา กายกับใจนั้นสัมพันธ์กันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และการที่จักระขาดพลังก็เป็นสาเหตุหลักของโรคเครียด โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ ฯลฯ เพราะจักระทั้ง 7 นั้นจะสัมพันธ์กับต่อมไร้ท่อทั้งหมดในร่างกาย หลังจากที่จีได้เรียนรู้เรื่องจักระและฝึกเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก ทำสมาธิฟังเพลงเพื่อล้างจักระและปรับสมดุลจักระ รวมทั้งพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองแล้วมันก็ช่วยให้สุขภาพร่างกายและจิตใจของจีนั้นสมดุลขึ้น ชีวิตก็สมดุลขึ้นในทุกด้านเช่นกัน
จีหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่า จักระคืออะไร? แล้วมันสำคัญอย่างไรต่อสมดุลสุขภาพกายใจของเราคราวหน้าจีจะนำวิธีการล้างจักระและปรับจักระเพื่อสร้างสมดุลชีวิตจิตใจมาแชร์กันนะคะ
เครดิตข้อมูล : roots8yoga, the1.co.th, wikipedia
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : มาทำ Grounding เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพกันดีกว่า