หากคุณกำลังมีปัญหาชีวิตติดขัด ไม่มีความสุขกับชีวิตปัจจุบัน หรือมีความเจ็บป่วยเรื้อรัง ลองอ่านบทความนี้ดูนะคะ จะช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและสิ่งที่ต้องเผชิญได้มากขึ้น จากประสบการณ์การเรียนรู้และการเยียวยาบำบัดจิตใจตัวเองและผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รวมทั้งโรคจิตเวชมากมาย หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ป่วย แต่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือมีปัญหาชีวิตติดขัดนั้น ส่วนใหญ่คนเราล้วนแล้วแต่มี “ปมในใจ” ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง แต่อาจไม่รู้ตัว หรือบางคนมี “บาดแผลทางใจ” ที่ปกปิดซ่อนเร้นไว้โดยไม่สามารถบอกใครได้ เพราะ ปมในใจหรือบาดแผลทางใจ นั้นมันฝังอยู่ใน ”จิตใต้สำนึก” หรือจิตส่วนลึกที่เราไม่อาจเข้าใจหรือเข้าถึงได้ในระดับความคิด บทความนี้จีจะชวนคุณมาทำความเข้าใจชีวิตและจิตใจตัวเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อให้คุณได้ตระหนักรู้ในสิ่งสำคัญที่มันขับเคลื่อนชีวิตเราแบบที่เราอาจไม่รู้ตัว

แล้วปมในใจหรือบาดแผลทางใจมันคืออะไร?

เราทุกคนล้วนมีประสบการณ์และผ่านเรื่องราวในชีวิตมามากมายตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาและงานศึกษาวิจัยมากมายได้บอกไว้ว่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ในวัยเด็กที่มีผลกระทบต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความกลัว ความรู้สึกช็อค ความเครียดเรื้อรัง ความวิตกกังวล ความรู้สึกเจ็บปวด และความรู้สึกด้านลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการดูแลเยียวยาแก้ไข มันอาจกลายเป็นปมในใจหรือบาดแผลทางใจได้และสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตในปัจจุบันของคนเรา รวมทั้งยังสามารถก่อให้เกิดโรคได้ ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจได้อีกด้วย ในการเรียนรู้การเยียวยาบำบัดจิตใจเพิ่มเติมของจีในเรื่องของการพัฒนาจิตวิญญาณจะให้ความสนใจและเยียวยาในเรื่อง Trapped Emotion ซึ่งเกี่ยวข้องกับปมปัญหาและบาดแผลทางใจนี้ด้วย คุณสามารถอ่านบทความเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มเติมได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : Trapped Emotion คืออะไร? ใครมีปัญหาชีวิตติดขัด ต้องอ่าน!

ประสบการณ์ที่ไม่ดีหรือบาดแผลทางใจส่งผลยังไงกับชีวิตปัจจุบัน?

จากข้อมูลการศึกษา ACE study ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC)  เป็นการศึกษาว่า ประสบการณ์ที่ไม่ดีหรือบาดแผลในวัยเด็ก จะส่งผลกับการเป็นโรคและคุณภาพชีวิตในตอนโตอย่างไร? ตัวอย่างประสบการณ์ที่ไม่ดี อย่างเช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกละเมิดทั้งทางอารมณ์หรือทางจิตใจ การถูกทอดทิ้งหรือละเลยทั้งทางกายและทางใจ หรือการมีคนป่วย คนที่มีภาวะเสพติดภายในครอบครัว เป็นต้น ผลที่ออกมาคือ การมีประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่ดีส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ การฆ่าตัวตายและตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น

มีงานวิจัยโดย ErikaKuzminskaite และคณะ ได้ทำการค้นคว้างานวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ตั้งแต่ปี 2009 – 2020 จำนวน 37 รายการ พบว่า “บาดแผลทางใจในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับการเกิดสภาวะความผิดปกติทางด้านจิตใจ” ศักยภาพภายในที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานทางจิตใจ และกระบวนการทำงานของร่างกาย เนื่องจากร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัวเกือบตลอดเวลา ทำให้ Cortisol หรือสารแห่งความเครียดหลั่งมากขึ้น ซึ่งคนที่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็กจะมีโอกาสเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนที่ไม่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก นอกจากนี้บาดแผลทางใจในวัยเด็กมีผลทำให้บุคคลเกิดการปรับตัวที่ผิดปกติ เช่น มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด หรือมีวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอีกด้วย มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างบาดแผลทางใจและปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เราจะเห็นได้ว่า “ปมในใจ” หรือ “บาดแผลทางใจ” ในวัยเด็กนั้น สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพมากมายที่คนในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่

6 คำถาม เพื่อสำรวจปมในใจหรือบาดแผลทางใจตัวเอง

สิ่งที่จีได้พบจากผู้ที่เข้ามาเรียนรู้หรือเยียวยาบำบัดใน คอร์สเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต  เมื่อพูดคุยสอบถามปัญหาชีวิตที่ติดขัดของแต่ละคน แล้วพบว่าปัญหานั้นอาจเชื่อมโยงกับปมในใจหรือบาดแผลทางใจบางอย่างที่เกิดในวัยเด็ก บ่อยครั้งที่ผู้เข้ารับการบำบัดมักจะบอกว่า ชีวิตในวัยเด็กนั้นดี ไม่มีปัญหาอะไร ครอบครัวเลี้ยงดูมาอย่างดี ดูแล้วไม่คิดว่าตัวเองจะมีปมอะไร แต่จริง ๆ แล้ว พอพาย้อนกลับไปเพื่อหาความเชื่อมโยงและต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็พบว่ามีมากมายและมันกำลังส่งผลกระทบหรือสร้างปัญหาในชีวิตปัจจุบันของเขาอยู่ แต่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเพราะมันอยู่ลึกในจิตใต้สำนึกแล้วเขาก็อาจลืมมันไปแล้ว แต่จิตใต้สำนึกไม่เคยลืมมันยังคงอยู่ตรงนั้นแล้วขับเคลื่อนชีวิตให้ติดขัดมาจนถึงปัจจุบันนี้ บางคนมีกลไกการป้องกันตัวเองสูง สร้างกำแพงป้องกันความเจ็บปวดจนไม่ยอมให้ใครเข้าไปแตะหรือพูดถึง จีนำ  6 คำถาม จากคุณหมอบั๊ม เพจทุกโรครักษาได้ มาแชร์เพื่อชวนให้เพื่อน ๆ ได้เปิดใจลองสำรวจตัวเองดูว่าเรามีปมในใจหรือบาดแผลทางใจอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ลองถามตัวเองว่าเรามีพ่อแม่แบบนี้หรือไม่..

1. หากคุณมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ชอบปฏิเสธความจริงในความรู้สึกนึกคิดหรืออารม์ และประสบการณ์ของคุณ โดยมักจะพูดประโยคเหล่านี้กับคุณ เช่น “ลูกไม่ควรโกรธ” “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร” “ลูกควรลืม ๆ มันไปซะ” “ลูกอ่อนไหวไปรึเปล่า” “ยิ้มเข้าไว้ ไม่มีเหตุผลที่จะเศร้า” เป็นต้น การที่พ่อแม่ปฏิเสธความจริงของคุณ มันทำให้คุณปฏิเสธความจริงในตัวเองไปด้วย

2. ผู้ปกครองหรือพ่อแม่บางคน มักละเลยที่จะให้เวลากับลูก อาจแสดงพฤติกรรมที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าท่านไม่เห็น ไม่ได้ยิน หรือมักไม่รับรู้การมีอยู่ของลูก ท่านอาจจะยุ่งทำงานเพื่อหนีความทุกข์ของตัวเอง และคุณอาจจะรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่มีตัวตน หากคุณมีพ่อแม่แบบนี้ มันจะส่งผลให้ตัวเราในวัยเด็กรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่เป็นที่รัก ไร้ค่าและเป็นบาดแผล” ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะส่งผลกับชีวิตในปัจจุบัน ลึก ๆ คุณมองตัวเองว่าไร้ค่าและไม่เป็นที่รัก รู้สึกโหยหาความรักในปัจจุบัน

3. บางคนมีพ่อแม่ที่ควบคุมและพยายามผลักดันลูกไปสู่ความสำเร็จ พ่อแม่ก็มีบาดแผลในใจที่ไม่รู้ตัว รู้สึกไม่ดีพอ ล้มเหลว และพยายามแก้ไขความเจ็บปวดของตัวเอง โดยใช้ความสำเร็จของคุณ พ่อแม่ใช้ชีวิตของท่านผ่านชีวิตของคุณ โดยไม่รู้ตัวและคุณก็รู้สึกสูญเสียชีวิตของตัวเองไป “คุณสูญเสียตัวตนที่แท้จริง”

4. พ่อแม่ที่ไม่สามารถสร้างขอบเขตที่เหมาะสมอาจเข้ามาดูและใช้ของส่วนตัวของเรา เช่น บันทึก โทรศัพท์  หรือถ้าท่านอารมณ์ไม่ดีทุกคนต้องอารมณ์ไม่ดีไปด้วย การไม่มีขอบเขตที่เหมาะสมทำให้เราแยกความเป็นตัวเรากับพ่อแม่ไม่ได้และสูญเสียตัวตนที่แท้ไป

5. พ่อแม่บางคนที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาหรือภาพลักษณ์ภายนอกมากเกินไป เช่น ชอบวิจารณ์รูปร่างของคุณ วิจารณ์รูปร่างคนอื่น หรือ ตัวท่านหมกมุ่นกับการลดน้ำหนัก ออกกำลังอย่างมาก บางครั้งพฤติกรรมในบ้านอาจตรงข้ามกับนอกบ้าน เช่น ในบ้านดุด่า นอกบ้านเมตตาสุภาพ มันสื่อสารให้เราโฟกัสที่การสร้างภาพลักษณ์และปฏิเสธความเป็นตัวตนที่แท้จริง

6. พ่อแม่ที่อารมณ์ไม่มั่นคง อารมณ์สวิง ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือเรียกว่าชอบเหวี่ยง ดุด่า บางทีเงียบ แยกตัว มันทำให้คุณไม่สามารถเชื่อมต่อทางอารมณ์กับพ่อแม่ ถูกทอดทิ้งทางอารมณ์และพยายามปรับตัวเพื่อให้ได้รับความรัก จนสูญเสียตัวตนที่แท้ ซึ่งมันก็อาจสร้างบาดแผลในใจได้

คำว่า บาดแผลในใจ พูดง่าย ๆ ก็คือ “ภาวะการออกจากตัวตนที่แท้จริงของเราเพื่อให้ได้รับความรัก” นั่นเองบ่อยครั้งที่คุณอาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ มีความรู้สึกขัดแย้งภายในใจ เหมือนตัวเองเป็นคนมีปัญหา และกำลังต่อว่า ตำหนิตัวเองหรืออาจจะทะเลาะกับตัวเองอยู่ข้างใน นั่นอาจเป็นเพราะกลไกทางจิตที่ทำให้เราปฏิเสธความเจ็บปวด หรือกลบฝังมันไว้จนเราจำไม่ได้ ซึ่งบางครั้งกลไกทางจิตก็พยายามทำให้ชีวิตในตอนเด็กเราดูสมบูรณ์และไม่มีความทรงจำอะไรที่ไม่ดี ตัวเราเองอาจจะจำอะไรไม่ได้ แต่ “ร่างกายไม่เคยโกหก” และจิตใต้สำนึกนั้นสามารถจดจำทุกเรื่องราวในชีวิตได้

หลายคนอาจจะรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่หรือมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีภายในครอบครัว เราอาจจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะมีชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้นได้ ด้วยการหันกลับมารับผิดชอบชีวิตตัวเอง เรียนรู้ที่จะฝึกดูแลและเยียวยาตัวเราใจเราเอง ให้อภัยพ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงดูเรามาเพราะอดีตได้ผ่านไปแล้ว และท่านก็เลี้ยงดูเรามาอย่างเต็มความสามารถที่ท่านมีอยู่ในตอนนั้นแล้ว เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เราสามารถที่จะเปลี่ยนความรู้สึกของเราที่มีต่ออดีตได้ “การให้อภัย” ทั้งอภัยให้ตัวเอง อภัยให้พ่อแม่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่อาจจะเคยสร้างความเจ็บปวดหรือบาดแผลทางใจให้เรา จะเป็นหนทางนำไปสู่การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากอดีตเพื่อที่จะมีความสุขและมีชีวิตจิตใจที่ดีในปัจจุบันได้ หากเราไม่สามารถเยียวยาแก้ไขปมปัญหาหรือบาดแผลทางใจด้วยตัวเราเอง เราสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเราได้

จีเองค้นพบว่าตัวเองมีปมและบาดแผลทางใจในวัยเด็กมากมายตอนที่กลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้ง แล้วพยายามหาสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ตัวเองป่วย รวมทั้งแนวทางในการเยียวยาบำบัดจิตใจตัวเองเพื่อให้หายป่วยได้ แล้วจีก็พบว่าเมื่อตัวเองกลับไป เยียวยาเด็กน้อยในตัวเรา (Inner Child Healing) และ เยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก เพื่อเข้าไปคลายหรือเคลียร์ปมปัญหาในใจหรือบาดแผลทางใจของตัวเอง มันช่วยให้จีมีอาการดีขึ้นและมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้จีหลุดพ้นจากวังวนของโรคซึมเศร้า

ถึงแม้คุณจะคิดว่าในวัยเด็กของคุณดูปกติ ครอบครัวของคุณเลี้ยงดูมาดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร หรือสังคมที่คุณอยู่ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่เคยทำให้คุณสะเทือนใจ มันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณอาจไม่ได้มี “ปมในใจ” หรือ “บาดแผลทางใจ” ซึ่งคุณอาจจะมีแต่อาจไม่รู้ตัวก็เป็นได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : “ปมในใจ” กับ “ความฝัน” ที่ถูกลืมทิ้งไว้ในความทรงจำ

All Photo by Pixabay.com

อ้างอิงข้อมูลจาก : เพจทุกโรครักษาได้ by Dr.Siwa, iStrong,

เพิ่มเพื่อน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here