Mindset

“แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน” คุณอาจจะเคยได้ยินประโยคนี้มาบ่อยครั้ง แต่อาจจะยังไม่เข้าใจกระบวนการว่าต้องเปลี่ยนความคิดอะไร? ยังไง?  จีเองได้สนใจการเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างจริงจังในตอนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วได้อ่านบทความและหนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเองมากมาย เพื่อที่จะมองหาหนทางในการเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งเคยสงสัยกับประโยคที่ว่านี้เช่นกันว่ามันต้องเปลี่ยนความคิดยังไง? ถึงจะเปลี่ยนโชคชะตาชีวิตของตนเองได้ แล้วจีก็ได้ค้นพบคำตอบที่สำคัญจากการได้อ่านหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง Mindset จึงทำให้จีได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตเรานั้น มันคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดหรือ Mindset ของเรานั่นเอง หลังจากที่จีได้ฝึกฝนเรียนรู้ พัฒนากรอบความคิด (Mindset) ของตัวเองใหม่ มันก็ช่วยเปลี่ยนโชคชะตาชีวิต ของจีได้อย่างมากมาย ลองไปอ่านบทความกันดูนะคะ  

Mindset

Mindset คืออะไร?

ในหนังสือ Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา ซึ่งเขียนโดย Carol S. Dweck ได้กล่าวไว้ว่า ความเชื่อธรรมดา ๆ เกี่ยวกับตัวคุณเองสามารถชี้นำชีวิตส่วนใหญ่ของคุณได้อย่างมากมาย มันแทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของชีวิตคุณ สิ่งที่คุณคิดว่าเป็นบุคลิกของคุณนั้นส่วนมากพัฒนามาจากความเชื่อเกี่ยวกับตัวคุณเอง ซึ่งเรียกว่า “กรอบความคิด” และสิ่งที่อาจขัดขวางไม่ให้คุณเติมเต็มศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่นั้นส่วนมากก็เป็นผลมาจากกรอบความคิดดังกล่าวเช่นกัน

หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ  Mindset ก็คือ กรอบความคิด กระบวนการทางความคิดหรือรูปแบบทางความคิดของคนเราที่เกิดมาจากความเชื่อซึ่งสามารถกำหนดรูปแบบพฤติกรรมของคนเรา ซึ่งแต่ละคนมีกรอบความคิดแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และสิ่งที่เราได้เรียนรู้มันส่งผลต่อการตัดสินใจและมีพฤติกรรมต่อเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว

รูปแบบของ Mindset

Carol S. Dweck นักวิจัยชั้นนำระดับโลกในด้านบุคลิกภาพ จิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาด้านพัฒนาการ ปัจจุบันเธอเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้แบ่ง Mindset ของคนเราออกเป็น 2 แบบ คือ Growth Mindset กับ Fixed Mindset

Growth Mindset คือ กรอบความคิดแบบเติบโต กรอบความคิดนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า คุณสมบัติพื้นฐานของคนเรานั้นคือสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายาม ถึงแม้คนเราอาจแตกต่างกันในทุก ๆ ด้าน  (ทั้งพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ความถนัด ความสนใจ และนิสัยใจคอ)  แต่ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ด้วยความพยายามและประสบการณ์ คนที่มี Mindset แบบนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่บกพร่องอยู่ได้มักจะเป็นคนทีชอบเรียนรู้ ท้าทาย ทำสิ่งใหม่ ๆ สนุกกับการแก้ปัญหา

Fixed Mindset คือ กรอบความคิดแบบตายตัว คนที่มีกรอบความคิดแบบนี้จะเชื่อว่าคุณสมบัติของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมักจะพิสูจน์ตัวเองว่ามีสติปัญญา บุคลิก และศีลธรรมในระดับที่มากพอ พวกเขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าไม่ได้ขาดคุณสมบัติพื้นฐานที่สุดเหล่านี้ ซึ่งคนที่มีกรอบความคิดแบบนี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยกว่าเพราะขาดการเรียนรู้ มักหลบเลี่ยงอุปสรรคและปัญหา รวมทั้งเชื่อว่าตัวเองมีทักษะจำกัด ไม่สามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้แล้ว

Mindset

แล้วคุณมี กรอบความคิด (Mindset) แบบไหน?

หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่ามีกรอบความคิดแบบไหน? ลองตอบคำถามเกี่ยวกับสติปัญญาเหล่านี้ดูนะคะเพื่อเช็คกรอบความคิดของตัวเราเองกัน แล้วจะได้พัฒนาต่อได้ถูกทาง อ่านแต่ละประโยคแล้วตอบว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประโยคนั้น

  1. ความฉลาดเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่เกิด ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก
  2. คุณเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ แต่พัฒนาตัวเองให้ฉลาดขึ้นไม่ได้
  3. ไม่ว่าคุณจะฉลาดแค่ไหน คุณก็สามารถพัฒนาตัวเองให้ฉลาดขึ้นอีกเล็กน้อยได้
  4. คุณสามารถพัฒนาตัวเองให้ฉลาดขึ้นได้อย่างมหาศาล

ลองมาดูผลกันนะคะ ข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2 สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดแบบตายตัว ส่วน ข้อที่ 3 และ ข้อที่ 4 สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ คุณอาจจะเห็นด้วยกับกรอบความคิดทั้งสองแบบ แต่คนส่วนใหญ่จะโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากกว่า ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความฉลาดหรือความสามารถเท่านั้น ยังมีเรื่องของบุคลิกภาพอีกด้วย ลองอ่านประโยคเหล่านี้เพิ่มเติมนะคะ แล้วตอบว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่กับแต่ละประโยค

  1. คุณรู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน และไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้
  2. ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน คุณสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างมหาศาลเสมอ
  3. คุณสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีทำสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ตัวตนของคุณซึ่งเป็นส่วนสำคัญนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ
  4. คุณเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติพื้นฐานเกี่ยวกับตัวตนของคุณได้เสมอ

ข้อที่ 1 และ ข้อที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดแบบตายตัว ส่วนข้อที่ 2 และ ข้อที่ 4 สะท้อนให้เห็นถึงกรอบความคิดแบบพัฒนาได้

หลังจากที่ได้ตอบคำถามกันมาแล้ว เริ่มมองเห็นกรอบความคิดของตัวเองกันแล้วใช่ไหมคะ ใครที่ได้คำตอบว่าตัวเองมีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) ก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะจีก็เคยมีกรอบความคิดแบบนั้นมากมายมาก่อน และข่าวดีก็คือ กรอบความคิดของคนเรานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้เสมอเพราะคนเรานั้นจะไม่ได้มีแต่กรอบความคิดแบบใดแบบหนึ่ง เรามีได้ทั้งสองแบบปะปนกันไปในแต่ละเรื่องราวของชีวิตและเราก็สามารถที่จะพัฒนากรอบความคิดแบบตายตัวให้เป็นกรอบความคิดแบบเติบโตได้เพื่อให้เรามีชีวิตที่มีความสุขและประสบความสำเร็จได้มากขึ้น ลองไปดูแนวทางการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) กันต่อนะคะ จีนำแนวทางส่วนหนึ่งที่จีใช้พัฒนากรอบความคิดของตัวเองมาแชร์ให้กับเพื่อน ๆ ที่สนใจเพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองกันนะคะ

Mindset

แนวทางการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

1.ตระหนักรู้และยอมรับจุดอ่อนของตัวเองก่อน คนเราทุกคนย่อมมีข้อดีข้อด้อยหรือจุดแข็งจุดอ่อนด้วยกันทั้งนั้น การที่เราจะพัฒนาตนเองได้นั้นเราจำเป็นต้องตระหนักรู้ในตนเองว่าเรามีข้อดีอะไรแล้วพัฒนามันให้ดียิ่งขึ้น ส่วนข้อด้อยหรือจุดอ่อนของเรานั้น เราก็จำเป็นต้องเปิดใจยอมรับมันว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราแล้วฝึกรับมือกับจุดอ่อนของตัวเราเองเพื่อที่เราจะสามารถใช้ชีวิตได้มีความสุขมากขึ้น

2.ฝึกมองปัญหาหรืออุปสรรคให้เป็นโอกาส คนเรามักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรือพูดง่าย ๆ ว่ามักจะยึดติดอะไรในแบบเดิม ๆ พอเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตขึ้นก็มักจะรู้สึกกลัวและไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าหากเราฝึกเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่มันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอและปรับมุมมองต่อสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นปัญหาหรืออุปสรรคว่ามันคือโอกาสเพื่อท้าทายกับมัน เราจะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้มากขึ้น

3.นิยามคำว่า “ล้มเหลว” ของตัวเองใหม่ การที่เราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่สำเร็จหรือทำผิดพลาดเรามักจะตัดสินตัวเองว่าล้มเหลว และปิดกั้นโอกาสของตัวเองไม่กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะไม่ตัดสินตัวเองว่าล้มเหลว แต่เขาให้ความหมายว่าแค่ยังทำไม่สำเร็จในตอนนี้เท่านั้น แต่ถ้าเขาพยายามและให้โอกาสตัวเองในที่สุดเขาก็จะทำสำเร็จ

4.เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้และเปิดใจรับคำวิพากษ์วิจารณ์หรือฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์ คนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว มักจะไม่สามารถยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นได้เลยตัดโอกาสในการที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น หรือมักจะไม่สามารถแยกแยะที่เลือกรับฟีดแบคที่สร้างสรรค์ แต่กลับไปเลือกรับฟีดแบคที่บั่นทอนคุณค่าในตนเอง

5.ฝึกเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ คนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัวมักจะชอบอยู่ในคอมฟอร์ทโซนหรือพื้นที่ที่รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย ทำอะไรในแบบเดิม  ไม่กล้าที่จะออกไปเผชิญหน้าหรือท้าทายกับการทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นถ้าหากต้องการพัฒนากรอบความคิดของตัวเอง ควรฝึกเรียนรู้และทำสิ่งใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้พัฒนาตนเองได้มากขึ้น

6.สนใจกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง โดยส่วนใหญ่เมื่อเรามีเป้าหมายหรือต้องการที่จะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ เรามักจะโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ โดยลืมที่จะสนใจกระบวนการหรือลืมที่จะมีความสุขระหว่างทาง บ่อยครั้งที่เราอาจทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จเพราะขาดแรงบันดาลใจและล้มเลิกกลางทาง

7.ให้คุณค่ากับการเรียนรู้มากกว่าคำชม คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตสนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ มากกว่าสนใจที่ต้องรอให้ใครมาชื่นชมหรือยอมรับ แต่คนที่มีความคิดแบบตายตัวมักจะต้องการคำชื่นชมและการยอมรับจากผู้อื่น

8.ชื่นชมที่ความพยายามมากกว่าคุณสมบัติที่ติดตัวมา คนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัวจะเชื่อว่าที่เขาทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จเพราะเกิดจากพรสวรรค์หรือคุณสมบัติที่ติดตัวมา แต่คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะเชื่อว่าเขาจะประสบความสำเร็จได้ด้วยความพยายามและการเรียนรู้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ

9.เลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่ถูกจริตกับตัวเองและเลือกกการเรียนรู้ที่ดีมากกว่าการเรียนรู้ที่เร็ว เพราะจะช่วยให้เราสนุกกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างยังยื่นต่อยอดการเรียนรู้ได้

10.จำไว้ว่าสมองของคนเรานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้ตลอดชีวิต (ซึ่งมีงานวิจัยรองรับ) ไม่มีคำว่าสายในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ดังนั้นเราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม

จีเป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวในชีวิต ตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นช่วงมรสุมชีวิตพัดผ่านอีกช่วงหนึ่งที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด จีมีปัญหาทั้งทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคแพนิกและมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้อย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นลำไส้อักเสบและฮอร์โมนแปรปรวน มีภาระหนี้สินท่วมหัวจากการถูกเพื่อนโกงทางธุรกิจและไม่มีวินัยทางการเงิน ซึ่งเรียกได้ว่าล้มละลาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความรักความสัมพันธ์ทั้งคนในครอบครัวและคนใกล้ตัว อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องงาน จากปัญหาชีวิตที่รุมเร้าในทุกด้านจนต้องเกือบจบชีวิตตัวเองลง

ในช่วงเวลานั้นจีรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ไร้ค่า วนลูปอยู่กับห้วงแห่งความทุกข์จนไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง แต่เมื่อจีตั้งสติได้จึงเปิดใจเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าและความตาย แล้วจีก็ได้เรียนรู้การเยียวยาและพัฒนาตัวเองจนสามารถก้าวข้ามผ่านทุกปัญหาและอุปสรรคในชีวิตมาได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ช่วยให้จีสามารถเปลี่ยนเส้นทางชีวิตหรือโชคชะตาของตนเองได้ ก็คือ การพัฒนาและปรับเปลี่ยน Mindset ของตัวเองใหม่ตามแนวทางที่จีแชร์ไปนั่นเอง

Mindset

หลังจากนั้นจีก็ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะทักษะชีวิตที่จำเป็นที่จะช่วยให้จีมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคนที่เคยล้มละลาย ไม่มีวินัยทางการเงินจนเป็นหนี้เป็นสิน กลายเป็นคนที่ไม่มีหนี้สินและมีเงินเก็บอย่างที่ตั้งใจ จากคนที่เคยมีปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ จีสามารถเยียวยาตนเองจนหายป่วยจากทุกข์โรค มีความสุขกับคนในครอบครัวและคนรอบตัว สามารถสร้างงานในฝันของตัวเองได้สำเร็จและสามารถส่งต่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเองนี้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้อีก

นี่คือความมหัศจรรย์ที่จีได้ค้นพบและพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า การพัฒนากรอบความคิด (Mindset) สามารถช่วยเปลี่ยนโชคชะตาชีวิตตนเองได้จริง เราสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะทำให้ตัวเองเป็นคนล้มเหลว (Losers) หรือเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ (Winners) ขึ้นอยู่กับความคิดของเราเอง

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ Mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา โดย Carol S. Dweck, www.developgoodhabits.com

Cr: Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : 12 รูปแบบทางความคิด ที่ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข

สนใจเรียนรู้และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมแอดไลน์เพิ่มเพื่อนด้านล่างได้เลยค่ะ

เพิ่มเพื่อน

2 COMMENTS

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here