จิตใจของมนุษย์เรานั้น ยากแท้หยั่งถึง” เพื่อน ๆ มักจะได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในเวลาที่เราต้องพบเจอเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกขัดแย้งหรือไม่เข้าใจพฤติกรรม การกระทำและคำพูดของผู้อื่น และบ่อยครั้งที่เราก็ไม่เข้าใจตัวเราเองเช่นกันในเวลาที่เรารู้สึกขัดแย้งกับตัวเอง จิตใจของมนุษย์เรานั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน จีเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดขัดแย้งภายในใจตนเองมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่อยู่ภายในใจเรา เรื่องราว ความรู้สึกต่าง ๆ โดยเฉพาะความรู้สึกด้านลบที่เราเก็บกดสะสมอยู่ภายในใจนั้น มันจะมีพลังมากมายมหาศาลที่กำหนดให้ชีวิตเราเป็นไปในแบบที่เราไม่ต้องการ สร้างปัญหาในชีวิต ทำให้ชีวิตติดขัดจนส่งผลให้จีป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ การทำความเข้าใจการทำงานของจิตใจเราจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ลึกซึ้งมากขึ้น จีนำทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Theory) ที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ ลองทำความเข้าใจจิตใจของคนเราได้มากขึ้นมาแชร์กันค่ะ

หลังจากที่จีกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าครั้งล่าสุด จีได้คลายความสงสัยของตัวเองว่า ทำไมชีวิตเราถึงเป็นเช่นนี้? เพราะมันมีบางสิ่งบางอย่างภายในใจเราที่คอยขับเคลื่อนชีวิตเราโดยที่เราไม่ได้อยากจะเป็นเช่นนั้น แต่มันเป็นไปเหมือนเราถูกควบคุม หรือมีบางสิ่งบางอย่างครอบงำความคิดและจิตใจเราแบบอัตโนมัติ จนวันนึงรู้สึกว่ามันทำให้เราควบคุมชีวิตและจิตใจเราเองไม่ได้ จนดำดิ่งสู่หลุมดำแห่งความรู้สึกจนเกือบจะฆ่าตัวตายอีกครั้ง เมื่อจีได้มาพบทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Theory) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจของคนเรา จีเรียกมันว่า ภูเขาน้ำแข็งในใจตน จากทฤษฎีนี้ทำให้จีสามารถทำความเข้าใจกับจิตใจตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเรื่องจิตใตสำนึกที่มีพลังมหาศาล ที่จะทำให้เราค้นพบความสุขที่แท้จริงและเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ลึกซึ้งมากขึ้น

จีชอบ ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Theory)   โดยใช้ Satir Model อธิบายจิตใจของมนุษย์ เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir) นักบำบัดแบบครอบครัว ชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง และเป็นเจ้าของทฤษฎีทางจิตวิทยา “ซาเทียร์ โมเดล”  (Satir Model)  ซาเทียร์เชื่อว่าการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจนั้นต้องเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคลอย่างถ่องแท้ก่อน ทฤษฎีของ “ซาเทียร์” เป็นทฤษฎีที่เข้าถึงธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์มากที่สุด แล้วจีเองก็ได้นำทฤษฎีเหล่านี้มาฝึกเยียวยารักษาใจตัวเองและเพื่อนผู้ป่วยมากมายและได้ผลดีมากสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

จากรูปข้อมูล ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg) เราจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมที่แสดงออกมาผ่านทางกายและวาจานั้น เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่โผล่พ้นจากผิวน้ำทะเล ซึ่งทางจิตวิทยาเรียกจิตส่วนนี้ว่า “จิตสำนึก” พฤติกรรมเหล่านั้นล้วนมีเหตุปัจจัยจากความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ การรับรู้ ความคาดหวัง ความโหยหา และอัตตาตัวตน ซึ่งซ้อนทับกันอยู่ภายในใจ เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ผิวน้ำทะเล จิตส่วนนี้เรียกว่า “จิตใต้สำนึก”

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Theory)

1. พฤติกรรม (Behaviors)

คือ การกระทำและคำพูด หรือเรื่องราว ที่บุคคลแสดงออกที่สามารถมองเห็นได้

2. การปรับตัวต่อปัญหา (Coping Stances)

คือ รูปแบบการปรับตัวของแต่ละบุคคลที่แสดงออกมาเมื่อมีสัมพันธภาพต่อผู้อื่นเมื่อมีเหตุการณ์เข้ามากระทบ จะมีรูปแบบ ดังนี้ การยอมตาม (Placating) โทษผู้อื่น (Blaming) เจ้าเหตุผล (Super Reasonable) เฉไฉ (Irrelevant) และสอดคล้องกลมกลืน (Congruence) ซึ่งการปรับตัวต่อปัญหาที่เกิดจากตัวตนของบุคคลที่มีการเรียนรู้ที่เหมาะสม ยอมรับตนเองอย่างถูกต้อง ตระหนักรู้ในตนเองอย่างเข้าใจ เคารพนับถือตนเองและรับรู้คุณค่าในตนเอง นั่นคือ การปรับตัวต่อปัญหาที่สอดคล้องกลมกลืน ส่วนการปรับตัวต่อปัญหาในแบบอื่น ๆ คือการปรับตัวที่บกพร่องต้องได้รับการเรียนรู้ใหม่และเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องและกลมกลืน

3. ความรู้สึก (Feeling)

อารมณ์ ความรู้สึกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคนที่จะมีอารมณ์ ความรู้สึกเกิดขึ้นได้

4. ความรู้สึกต่อความรู้สึก (Feeling About Feeling)

ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่เกิดซ้อนขึ้นมาเมื่อเรามีความรู้สึกต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เมื่อโดนครูดุ เรารู้สึกโกรธ แล้วความรู้สึกที่มีต่อความโกรธที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นความรู้สึกผิดที่โกรธครู ซึ่ง Feeling About Feeling นี้บางครั้งมีผลต่อบุคคลมากกว่าความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้น

5. การรับรู้ (Perception)

คือการตีความเรื่องราวต่าง ๆ ที่มากระทบตนเองของบุคคล ซึ่งจะรับรู้หรือจะตีความอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมมองความเชื่อ ค่านิยม ความเป็นจริงตามความคิดของบุคคลนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการสั่งสมมาจากประสบการณ์ในอดีต แต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันไปประกอบกับอีกส่วนหนึ่งที่มาจากตัวตน ความปรารถนา ความคาดหวังของบุคคลนั้นด้วย

6. ความคาดหวัง (Expectation)

คือ ความคาดหวังที่เรามีต่อตนเอง ความคาดหวังที่เรามีต่อผู้อื่น และความคาดหวังที่เราคิดว่าผู้อื่นคาดหวังกับเรา

7. ปรารถนา (Yearning)

ได้แก่ ความรัก การยอมรับ ความรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของ ความสร้างสรรค์ ความเชื่อมโยง ความเสรี ชั้นความปรารถนานี้เป็นสิ่งสากลที่ทุกคนในโลกนี้ล้วนต้องการ (Universal Need)

8. ตัวตน (Self)

เป็นชั้นลึกสุดของภูเขาน้ำแข็ง เป็นส่วนที่เป็นสาระหรือแกนของบุคคลภายในจิตใจ ซึ่งตัวตนเป็นสิ่งที่จะบอกว่า เราเป็นใคร เป็นคนอย่างไร ต้องการอะไรและตัวตนนี้จะรวมกันกับจิตวิญญาณ (Spiritual) ของเรา

จีขอยกตัวอย่างพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองที่ก่อนหน้านั้นจีไม่เคยเข้าใจและสร้างปัญหาชีวิตให้กับตัวเอง เช่น

พฤติกรรม (Behaviors)   : ยอมทำตามใจเพื่อน ไม่กล้าปฏิเสธ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากำลังโดนหลอกใช้หรือถูกเอาเปรียบ

การปรับตัวต่อปัญหา (Coping Stances) : การยอมตาม(Placating)

ความรู้สึก (Feeling) : รู้สึกไม่ดีต่อตัวเองและเพื่อน แต่รู้สึกไม่ดีต่อตัวเองมากกว่าโทษตัวเอง ตำหนิตัวเอง

ความรู้สึกต่อความรู้สึก (Feeling About Feeling) : รู้สึกผิดหวังกับตัวเองที่ไม่กล้าปฏิเสธ ปล่อยให้ตัวเองโดนเอาเปรียบ

การรับรู้ (Perception) : ถ้าเราปฏิเสธเพื่อนอาจจะมองว่าเราเห็นแก่ตัวไม่ยอมช่วยเหลือเพื่อนทั้ง ๆ ที่ช่วยได้ หรือเพื่อนอาจจะไม่ชอบเราแล้วไม่คบกับเราอีกถ้าหากเราไม่ยอมช่วยหรือทำตาม

ความคาดหวัง (Expectation) : อยากให้เพื่อนชอบหรือรักเรา ยอมรับเรา มองเราว่าเป็นเพื่อนที่ดี

ปรารถนา (Yearning) : ลึก ๆ ภายในใจปรารถนาหรือโหยหาความรัก การยอมรับ ความเชื่อมโยงกับเพื่อนหรือผู้อื่น

ตัวตน (Self) :  โดดเดี่ยว

นี่เป็นเพียงพฤติกรรมเดียวที่สร้างปัญหาชีวิตให้จีได้เป็นอย่างมากและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จีรู้สึกสูญเสียตัวตน รู้สึกผิดหวังกับตัวเอง ไม่ชอบตัวเองในแบบที่เป็น แต่หลังจากจีได้ฝึกเรียนรู้ที่จะเยียวยาและพัฒนาตนเอง ปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดและพฤติกรรม รวมทั้ง เยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก ของตัวเองให้สอดคล้องกลมกลืนตามแนวทางของจีที่ได้เรียนรู้ทั้งทางด้านจิตวิทยาและการฝึกจิตแบบแนวพุทธ มันทำให้จีสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ได้อย่างสร้างสรรค์ จีมีความสุขกับตัวเอง รักและนับถือตนเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติสุขมากขึ้น

หากเพื่อน ๆ ต้องการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของตัวเองหรือผู้อื่นก็ลองฝึกวิเคราะห์กันดูนะคะ แต่ถ้าหากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง หรือมีปมปัญหาขัดแย้งภายในใจ รวมทั้งมีปัญหาชีวิตติดขัด ซึ่งพยายามที่จะเยียวยาแก้ไขด้วยตัวเองแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ จีขอแนะนำให้เปิดใจมาเรียนรู้ การเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึกออนไลน์ หรือ คอร์สเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปด้วยกันกับจีได้ค่ะ

“จิตใจของมนุษย์เรานั้น ยากแท้หยั่งถึง” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำความเข้าใจไม่ได้ เพียงแค่เราลองหันกลับมาสำรวจโลกภายในใจเราหรือภูเขาน้ำแข็งในใจตน เพื่อเยียวยาเปลี่ยนแปลงโลกภายในใจเราให้งดงาม สอดคล้อง กลมกลืนเพื่อให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแบบของตัวเราเองอย่างแท้จริง

Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : เยียวยาเด็กน้อยในตัวเรา (Inner Child Healing)

เพิ่มเพื่อน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here