หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่า “สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล” จีอยากชวนคุณมาอ่านบทความนี้ดูค่ะ จากข่าวรายงานการศึกษาที่ถูกเผยแพร่ในโลกโซเชี่ยลจนเป็นที่งงงวยของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แล้วจีเองก็มีความเซอร์ไพรส์หรือแปลกใจปนดีใจที่มีผลการศึกษานี้ออกมายืนยัน เพื่อให้ผู้คนได้เข้าใจอย่างชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีผลงานวิจัยหรือการศึกษาใดยืนยันแน่ชัดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่  แต่มันก็ทำให้เรารู้ถึงข้อเท็จจริงมากขึ้น ว่าแท้ที่จริงแล้ว สาเหตุของโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้เกิดจากระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ลดต่ำลงอย่างที่เราเคยเข้าใจ หรือที่มีการให้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้านั้น เป็นเพราะว่าสารเคมีในสมองขาดสมดุลเพียงอย่างเดียว เลยทำให้ผู้ป่วยคิดว่าการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างเดียวจะช่วยให้หายป่วยได้

จีนำข้อมูลจาก เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มาแชร์ในบทความนี้ และขอแชร์ข้อคิดที่ได้เรียนรู้จากมุมมองของตัวเอง ซึ่งมาจากประสบการณ์การต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามายาวนานเกือบสิบปี เพื่อเป็นประโยชน์และอาจช่วยสร้างความเข้าใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่กำลังรักษาด้วยยาได้มากขึ้นค่ะ  จากข้อมูลในเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย  ได้กล่าวไว้ว่ามีรายงานการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับทฤษฎีของสารเซโรโทนิน (Serotonin) กับโรคซึมเศร้า แล้วพบว่า ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสารเซโรโทนินกับโรคซึมเศร้า และไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากระดับของเซโรโทนินที่ลดต่ำลง อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าในการใช้ยาแก้ซึมเศร้าระยะยาว อาจทำให้ระดับเซโรโทนินลดลงอีกด้วย ที่มาของการศึกษานี้เกิดจากการทบทวน วิเคราะห์ข้อมูลจากงานศึกษาต่าง ๆ  17  การศึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วนำมาสรุป ทางเพจได้สรุปเป็นสองประเด็น คือ ประเด็นแรกเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า และประเด็นที่สองคือเกี่ยวกับการรักษา

ประเด็นแรก เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยดังกล่าว คือ

  • ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงในระดับของพันธุกรรม หรือยีน (genes), การทำงานของสมอง และการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทต่าง ๆ เช่น สารเซโรโทนิน โดปามีน นอร์เอพิเนพฟริน และอื่น ๆ
  • ปัจจัยทางด้านจิตสังคม เช่น ความเครียด การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยทั้งสองส่วนก็ส่งผลต่อกันจนปลายทางก่อให้เกิดความเป็นโรคซึมเศร้าขึ้น ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ซับซ้อน และยังมีรายละเอียดอีกมากที่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตและไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับการรักษา ซึ่งทางการแพทย์จะใช้การรักษาวิธีต่าง ๆ ร่วมกัน ได้แก่

  • การใช้ยาแก้ซึมเศร้าหรือยาต้านเศร้า ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์ที่ได้ ยานี้จะช่วยไปปรับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวภาพดังที่กล่าวไปแล้ว และมีหลายการศึกษายืนยันประสิทธิภาพของยานี้ ส่วนของกลไกว่ายาช่วยได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ยังมีการศึกษาวิจัยเรื่อย ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำอธิบายในเรื่องนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามองค์ความรู้ที่ค้นพบ
  • การรักษาทางด้านจิตสังคม เช่น การทำจิตบำบัด การให้คำปรึกษา รวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด เป็นต้น
  • การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy), การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation) เป็นต้น ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านี้มีงานวิจัยที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่แท้จริงคืออะไร?

จากข้อมูลผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กังวลว่า หากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อ่านข้อมูลแล้วตีความหรือสรุปไปเองว่า การรักษาด้วยยาโรคซึมเศร้าไม่มีประโยชน์ มันอาจจะส่งผลเสียต่อการรักษา จีเองก็เป็นห่วงเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รักษาด้วยยาอยู่เพราะถ้าเราไม่เข้าใจโรคไม่เข้าใจตัวเราเอง แล้วอยากหยุดยามันจะส่งผลเสียต่อตัวเองและการรักษาเป็นอย่างมาก จึงขอแชร์ความคิดเห็นส่วนตัวและประสบการณ์การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าของตัวเองแบบองค์รวม จนสามารถก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้ามาได้ นอกจากหายป่วยแล้วยังป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้ตามแนวทางที่จีได้เรียนรู้ และจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลเยียวยาบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ามาเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าไปด้วยกันค่ะ

 

ข้อคิดที่ได้เรียนรู้จากการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้า

1. จากประสบการณ์ความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าของตัวเองที่ผ่านมา แล้วใช้ยารักษามายาวนานกว่าหกปียังไม่หายป่วย ด้วยความทุกข์ทรมาน และรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ในการรักษา จีจึงค้นคว้าหาข้อมูลการรักษาบำบัดทางเลือกอื่น ๆ จนได้ค้นพบ “การเยียวยาบำบัดแบบองค์รวม” จึงตัดสินใจปรึกษาคุณหมอเพื่อหยุดการรักษาด้วยยาเพราะดูแล้วไม่ได้ผลดีอย่างที่ควรจะเป็น และมันทำให้จีพบว่าการรักษาด้วยยาอย่างเดียวสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพันธุกรรม ปัญหาทางด้านจิตใจและจิตสังคมนั้น ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหายได้และต้องกินยาอย่างต่อเนื่องยาวนานแบบไร้จุดหมาย

2. การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยาไม่ได้ได้ผลดีกับทุกคน ผู้ป่วยบางคนถูกกับยาบางตัวกินยาไม่นานก็หายป่วยได้  บางคนป่วยเป็นซึมเศร้าในระดับเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาก็หายได้ แต่บางคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงการรักษาจำเป็นต้องใช้ยาในการควบคุมอาการ และรักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมด้วยอาการจึงจะดีขึ้น หรือบางคนกินยารักษาโรคซึมเศร้าจนหายป่วยแล้ว ก็กลับมาป่วยซ้ำต้องกลับมาเริ่มต้นกินยารักษาใหม่อีก เพราะปัจจัยกระตุ้นหรือสาเหตุที่ส่งผลให้เจ็บป่วยยังไม่ได้รับการดูแลเยียวยาแก้ไขจึงทำให้อาการกำเริบและกลับมาป่วยซ้ำได้อีก

3. มีหลายกรณีศึกษาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังที่จีเข้าไปช่วยดูแลและเยียวยา ซึ่งป่วยและกินยารักษามายาวนานกว่าสิบปี แต่ไม่สามารถหายป่วยได้ด้วยการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว หรือบางคนมีการทำจิตบำบัดร่วมด้วย แต่ก็ยังไม่หายป่วยหรือไม่สามารถลดการใช้ยาลงได้จนผู้ป่วยรู้สึกสิ้นหวัง  ซึ่งมีผู้ป่วยหลายคนที่เป็นเช่นนี้แล้วได้รับ การเยียวยาบำบัดแบบองค์รวม ตามแนวทางของจีพบว่าสามารถลดการใช้ยา หยุดการใช้ยารักษา และสามารถหายป่วยได้ นอกจากนี้มันยังเป็นแนวทางที่สามารถป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้อีกด้วย (หากผู้ป่วยดูแลรักษาสมดุลชีวิตจิตใจตัวเองอย่างต่อเนื่อง)

4. ประเด็นในข้อ 3 เป็นประเด็นสำคัญที่จีต้องการสื่อให้ผู้ป่วยและผู้ที่สนใจได้มองเห็นว่า ถ้าเราได้รับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องและเหมาะสมก็จะช่วยให้หายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้แบบไม่ต้องเสียเวลากินยารักษากันยาวนาน แต่ส่วนใหญ่การรักษาในเมืองไทยมักจะเน้นการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ผู้ป่วยต้องกินยารักษาอย่างยาวนานการรักษาก็ไม่ได้ผลดีอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ป่วยเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเกินจำเป็นและทุกข์ทรมานอยู่กับโรคนี้ยาวนานเกินไป

5. สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้อ่านผลรายงานการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้าที่จีแชร์ไปข้างต้น แล้วผู้ป่วยกำลังรักษาด้วยยาอยู่ ขอให้รักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องไปก่อน เราควรตระหนักแต่ไม่ควรตระหนกหรือตัดสินใจเลิกใช้ยา ซึ่งควรจะปรึกษาคุณหมอที่รักษาเราก่อน แต่ถ้าหากต้องการลดการใช้ยาหรือต้องการหยุดยารักษาโรคซึมเศร้าได้แบบไม่เสียเวลา จีขออนุญาตแนะนำให้มองหาการรักษาบำบัดที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเอง และลองดูว่าสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยของตัวเองมีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง แล้วเยียวยาแก้ไขให้ถูกจุดมันจะช่วยให้อาการดีขึ้นและหายป่วยได้ในที่สุด

6. ทั้งนี้โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน รวมทั้งจำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษาอยู่พอสมควร รวมทั้งยังจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูเยียวยาตัวเองด้วย ขอให้เราทำความเข้าใจโรคให้มากขึ้น และทำความเข้าใจกับตัวเอง รวมทั้งสิ่งที่เราต้องเผชิญด้วย และที่สำคัญเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิดและพฤติกรรมของตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในปัจจุบันหากขาดสมดุลมันจะส่งผลให้คนเราเจ็บป่วยได้ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองจะช่วยให้เราก้าวออกจากจุดที่เป็นอยู่และมีชีวิตจิตใจที่ดีขึ้นได้

ข้อคิดเหล่านี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่จีได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง และเรียนรู้ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการได้ช่วยเยียวยาบำบัดและดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ส่วนใหญ่รักษาด้วยยามานานแล้วไม่หายจนสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ จีขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนผู้ป่วยที่ยังรักษาด้วยยาอยู่ให้ค้นพบแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองแล้วก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าไปได้เช่นกันนะคะ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : 9 สาเหตุ ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องกินยายาวนาน

อ้างอิงข้อมูล : เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

All Photos by Pixabay.com

เพิ่มเพื่อน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here