โรคซึมเศร้า,แกนกลางของความซึมเศร้า

ในตอนที่จีป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จีเคยสงสัยว่าอะไรที่มันมีพลังมหาศาลที่คอยฉุดดึงและดูดกลืนจิตวิญญาณของเราให้ดิ่งลงสู่หลุมดำของความรู้สึก มันหมือนมีแม่เหล็กที่เป็นแกนกลางของความซึมเศร้า ที่คอยฉุดกระชากชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของเราไปสู่ความรู้สึกที่อยากจะหายไปจากโลกนี้ จีพยายามทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าและตัวเอง พยายามที่จะเรียนรู้เพื่อที่จะหาทางพาตัวเองให้ก้าวข้ามผ่านห้วงแห่งความรู้สึกลบ ๆ นี้ไปให้ได้ หลังจากที่ได้เรียนรู้เพื่อเยียวยารักษาใจตัวเองก็ค้นพบว่า…

“ความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเองเป็นแกนกลางของความซึมเศร้า”

ประโยคนี้จีได้มาจากเพจของคุณหมอประเวช ตันติพิวัฒนสกุล มันทำให้จีได้ฉุกคิดและนึกถึงตัวเองในช่วงเวลาที่มีอาการรุนแรง ซึ่งในตอนนั้นจีมีความรู้สึกลบ ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเอง ความรู้สึกมีต้นตอมาจากความคิดที่มาจากความเชื่อของเรา คนที่มีโรคซึมเศร้ามักจะมีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) ทั้งที่มาจากตัวโรคและมาจากความรู้สึกนึกคิดที่เป็นลบในจิตใต้สำนึกที่เราสั่งสมมันมายาวนานเราจะรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่น ไม่ภูมิใจในตัวเอง ชอบโทษตัวเอง โกรธ เกลียดตัวเอง ต่อว่าและคิดไม่ดีกับตัวเองตลอด ยิ่งถ้าเราไม่ฝึกรับมือและจัดการกับความคิดเหล่านี้ มันก็จะยิ่งทำให้เรารู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง นำไปสู่ความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิต

สิ่งที่ทำให้จีก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาได้ ก็คือ การกลับมาฝึกรักและเมตตาตัวเอง หันกลับมาดูแลตัวเองให้ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อเสริมสร้างพลังชีวิตและจิตใจให้สมดุล ฝึกพัฒนาทักษะต่างๆเพื่อพัฒนาตัวเอง รวมทั้งฝึกจัดการกับความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น

ซึ่งคุณหมอประเวชเองก็ได้แนะนำสิ่งเหล่านี้เพราะมันเป็นทักษะที่ดีที่ทำให้เราสามารถ รับมือและจัดการกับความซึมเศร้า ของเราได้ดีขึ้น มันจะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่นใจให้ตัวเราเอง แล้วพาเราออกจาก แกนกลางของความซึมเศร้า เพื่อเดินทางกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้

จีนำวิดีโอของคุณหมอประเวชมาให้เพื่อนๆได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจกับภาพรวมของโรคซึมเศร้าและการดูแลรักษาตัวเองที่ดีด้วยการฝึกทักษะต่าง ๆ ที่เราจำเป็น เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนให้เราหายป่วยจากโรคซึมเศร้าแล้วยังป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย

กดดูวิดีโอ >>> ฝึกทักษะแก้ซึมเศร้า โดย คุณหมอประเวช ตันติพิวัฒนสกุล

แกนกลางของความซึมเศร้า หากเราทำความเข้าใจ ฝึกรับมือและจัดการกับมันด้วยการฝึกทักษะแก้ซึมเศร้า ตามที่คุณหมอประเวชแนะนำและได้รับการดูแลเยียวยาอย่างเหมาะสมเราจะสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ค่ะ

อ้างอิง : เพจคุณหมอประเวช ตันติพิวัฒนสกุล

Photos by Pixabay, Pexels

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>> โรคซึมเศร้ากับ “ภาวะสิ้นยินดี” และวิธีรับมือ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here