เป็นโรคซึมเศร้าไม่ต้องกินยารักษาได้ไหม? เป็นคำถามที่พบบ่อยและจีได้เคยเขียนเป็นบทความแชร์ไว้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ามาพูดคุยสอบถามจีเกี่ยวกับแนวทางการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้า จีเองไม่ได้ต่อต้านการรักษาด้วยยาและเคยเข้ารับการรักษาด้วยยามาก่อน แต่ไม่สามารถหายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้จึงตัดสินใจเรียนรู้การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าด้วยตัวเองจนหายป่วยได้ ปัจจุบันการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้านั้นมีหลากหลายวิธีและวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด ก็คือ การรักษาด้วยยา แต่จากประสบการณ์ของตัวเองและเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่จีได้พบ ทุกคนไม่ได้หายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้เพียงเพราะใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว และบางคนก็หายได้แบบไม่ต้องใช้ยารักษา จีนำกรณีศึกษาผู้ที่หายป่วยจากซึมเศร้า (แบบไม่ใช้ยา) มาแชร์กับเพื่อน ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กันค่ะ

บันทึกอาการส่วนหนึ่งจากผู้ป่วยซึมเศร้า

จากวันที่รู้ว่าตัวเองเป็น​ “ซึมเศร้า” ปกติเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ช่างพูดช่างคุย​ สนุกสนาน​ เป็น​เจ้าแม่คิดบวก รู้สึกแปลก ๆ รู้สึกเหมือนไม่ใช่ตัวเอง มันมีความหน่วง ๆ ในใจ มันมีความเนือย ๆ ​อึน ๆ มึน ๆ ซึม ๆ จนคนรอบข้างรู้สึกได้ว่าเราเปลี่ยนไป​และเราไม่สามารถที่จะฝืนให้เป็น​ปกติได้ ที่สำ​คัญคือมันมีภาวะอารมณ์​เศร้าแบบอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรก็เศร้าแบบควบคุม​ไม่ได้ ไม่อยากคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไร ไม่รู้​สึกหิว เบื่ออาหารแบบเห็น​แล้วอยากอาเจียน นอนไม่หลับ ทานไม่ค่อยได้ต้องฝืน งงและสับสน เหมือนเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง สุดท้ายเหนื่อย ท้อแท้ ความเหนื่อยมันมาพร้อมกับอาการแพนิกและอยู่เรื่อยมาจนวันนี้สมองไม่ยอมหยุดคิดทั้ง ๆ ที่ก็ว่าไม่ได้คิดอะไร​ ทำไมเหมือนมีตัวหนังสือ​ มีเสียงอะไรวิ่งวุ่นวาย​อยู่​ในหัวที่ไม่สามารถหยุดได้

สิ่งที่เกิดขึ้น​นี้ทวีความรุนแรง​มากขึ้นทุก ๆ วันจนถึงวันที่รู้สึก​ว่าไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยมากแทบขาดใจ เหนื่อยแม้กระทั่งจะพูด  แม้จะเดิน แม้จะลุกจากที่นอนและความหนักหน่วงในใจมากขึ้น ๆ ความเศร้าเริ่มมากขึ้น ๆ จนแทบไม่มีที่สำหรับความสุขเลย เรียกว่าเศร้าหนัก​หน่วงทุกวินาทีและไม่สามารถช่วยเหลือ​ตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว เห็น​ภาพตัวเอง​เป็น​คนเสียสติที่ต้องจบลงในโรงพยาบาลใดโรงพยาบาล​หนึ่ง​ ซึ่งน่ากลัว​มากจริง ๆ​ ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างให้ตัวเองดีขึ้นคงไม่สามารถ​มีชีวิต​อยู่​ต่อไปได้ ทั้งหมดนี้จากวันแรกที่เริ่มเป็นจนถึงวันที่แย่ที่สุดเป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง

คุณแอน (นามสมมติ) เข้ามาทักทายพูดคุยกับจีทางเพจเยียวยารักษาใจ : Heal your mind by GG แล้วเล่าว่ามีอาการซึมเศร้าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ไม่เคยเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ เพียงแค่ได้พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยามาบ้าง พอได้คุยกันก็พบว่าเธอไม่ต้องการใช้วิธีการรักษาด้วยยา ต้องการมองหาแนวทางการเยียวยาบำบัดซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา

ลังเลใจจะเลือกการรักษาบำบัดซึมเศร้าแบบไหนดี?

“เหมือนสู้อยู่คนเดียวจนจะไม่ไหวแล้วมีคนแนะนำให้ไปหาหมอ แต่พี่ไม่อยากทานยา” เป็นประโยคที่คุณแอน (นามสมมติ) บอกกับจี ซึ่งจีเองก็แนะนำเธอว่าควรไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและขอคำแนะนำปรึกษาจากจิตแพทย์ก่อนเช่นกัน คุณแอน (นามสมมติ)เป็นผู้ป่วยซึมเศร้าคนหนึ่งที่ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามามากมายทั้งในไทยและข้อมูลของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องแนวทางการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าด้วยยาและผลข้างเคียงของยา รวมทั้งการเยียวยาบำบัดซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา เธอมีความลังเลใจ วิตกกังวลและสับสนไม่รู้จะตัดสินใจเลือกการรักษาบำบัดยังไงดี

“พี่พยายามค้นหาผู้มีประสบการณ์มายืนยันความเชื่อ ซึ่งก็มาเจอน้องจี” คุณแอน (นามสมมติ) บอกกับจีถึงความเชื่อที่เธอมีว่ายาไม่ช่วย เนื่องจากเธอได้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยาและการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก เธอเชื่อว่าต้องมีการรักษาบำบัดทางเลือกอื่นที่จะสามารถช่วยให้เธอหายป่วยจากซึมเศร้าได้ แบบไม่ใช้ยา หลังจากที่ได้พูดคุยกันและเธอสนใจแนวทางการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าในแบบของจี ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจเลือกการรักษาบำบัดซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา

​แนวทางการเยียวยาบำบัดซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา

หลังจากที่เธอตัดสินใจเรียนรู้แนวทางการก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าไปด้วยกันกับจี จีได้แนะนำถ่ายทอดแนวทางการเยียวยาบำบัดซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา 7 เคล็ดลับเอาชนะโรคซึมเศร้าด้วยตัวเราเอง เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับความเจ็บป่วยของตัวเอง ปรับวิธีคิดและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นและเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ป่วยเป็นซึมเศร้า เธอทำตามคำแนะนำ ปรับเรื่องการกิน การนอนให้มีคุณภาพ เดินออกกำลังกายรับแสงแดดยามเช้า ฝึกมีสติรู้เท่าทันความคิดจิตใจตัวเอง ฝึกผ่อนคลายและรับมือจัดการกับความเครียดความกังวล หลังจากที่เธอได้ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง อาการก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ

และปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นอาการของเธอก็คือเรื่องมุมมองความคิดและปมปัญหาขัดแย้งภายในใจ เราได้เยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึกและฝึกปรับมุมมองทางความคิด รวมทั้งฝึกรับมือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เธอต้องเผชิญในช่วงที่ป่วยเป็นซึมเศร้า ทำให้เธอได้เข้าใจตัวเองที่มีปมในใจมาตั้งแต่ในวัยเด็กและความคาดหวังกับตัวเองที่สูงมาก

เยียวยาแก้ไขโลกภายในใจที่ปั่นป่วน

ในช่วงเวลาที่เกิดความเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจ จิตใต้สำนึกของเราจะเปิดแล้วความรู้สึกลบ ๆ ที่เราเก็บกด สะสมเอาไว้มายาวนานจะผุดขึ้นมา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่บั่นทอนและสามารถทำร้ายจิตใจเรา มันเหมือนมีพลังดึงดูดที่สามารถส่งผลให้เรารู้สึกดำดิ่งสู่ความรู้สึกหดหู่เศร้าหมองและสิ้นหวังในแบบที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าเรากำลังดิ่งลงสู่หลุมดำหรือโลกมืด

ผู้ป่วยซึมเศร้าส่วนใหญ่ที่จีพบ รวมทั้งตัวจีเอง มักไม่ค่อยรู้ตัวว่าตนเองมีปมปัญหาขัดแย้งภายในใจ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก ที่อาจจะเกิดจากการเลี้ยงดู ปัญหาภายในครอบครัว และปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต หากไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขจิตใต้สำนึก มันจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยกระตุ้นและขับเคลื่อนรูปแบบทางความคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของเราให้เรามีปัญหาชีวิตในแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ บางคนรักษาด้วยยาอย่างเดียว ไม่ได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจหรือจิตใต้สำนึกที่เป็นจิตส่วนลึก ก็ไม่สามารถหายป่วยได้และคงต้องกินยาต่อไปเพื่อประคับประคองและควบคุมอาการไม่ให้กำเริบรุนแรง บางคนหยุดยาได้แล้วก็กลับมาป่วยซ้ำอีก เพราะยังไม่เคยเยียวยาแก้ไขปมปัญหาที่ขัดแย้งภายในใจที่มีอยู่ที่คอยกระตุ้นให้อาการกลับมากำเริบซ้ำ

กรณีของคุณแอน (นามสมมติ) เธอมีปมขัดแย้งภายในใจวัยเด็ก เธอถูกเลี้ยงดูมาด้วยความคาดหวัง ความเป็นระบบระเบียบ ต้องมีความรับผิดชอบสูง ไม่ค่อยได้รับคำชื่นชมจากพ่อแม่ ด้วยความที่พ่อเป็นทหาร เธอเก็บกดความรู้สึกด้านลบมากมาย มีความรู้สึกขาดภายในใจและแสดงความเข้มแข็งอยู่เสมอ สร้างกำแพงปกปิดความอ่อนแอ ความเศร้าหมองกดไว้อยู่ภายในใจ อีกทั้งเธอยังเคยผ่านประสบการณ์ในชีวิตเรื่องความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายจนทำให้เธอไม่สามารถเดินได้ด้วยก่อนหน้านี้ ความเครียดเรื้อรังสะสมส่งผลให้เธอมาถึงจุดที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าอย่างที่เธอเผชิญอยู่ หลังจากที่ใช้กระบวนการเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่คั่งค้างใจ กลับไปกอดและเยียวยาเด็กน้อยในตัวเรา ปรับมุมมองทางความคิด เธอก็สามารถที่จะก้าวข้ามและปลดล็อกปมในใจตัวเองได้

สรุปข้อคิด การหายป่วยจากซึมเศร้า แบบไม่ใช้ยา

1. การรักษาโรคซึมเศร้า นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ยังมีการรักษาบำบัดทางเลือกอีกมากมาย ผู้ป่วยมีศักดิ์และสิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกการรักษาบำบัดด้วยตัวเอง กรณีคุณแอน (นามสมมติ) ตัดสินใจเลือกการรักษาบำบัดซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา จีเคารพการตัดสินใจของเธอและเธอเต็มใจอนุญาตให้จีเป็นผู้ดูแลเยียวยาบำบัด รวมทั้งแนะนำแนวทางก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าและการป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำให้เธอด้วย

2. กรณีเป็นซึมเศร้าชนิดไม่รุนแรง เราอาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาก็ได้ เพียงแค่ปรับสมดุลชีวิตจิตใจก็สามารถหายป่วยจากซึมเศร้าได้อย่างเช่นกรณีศึกษาของคุณแอน (นามสมมติ)

3. ความร่วมมือในการรักษาบำบัดเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยาหรือการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้า ทางเลือกอื่น ๆ หากผู้ป่วยเปิดใจเรียนรู้ให้ความร่วมมือในการรักษาบำบัดตามคำแนะนำของจิตแพทย์หรือผู้เยียวยาบำบัดก็จะช่วยทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับและหายได้แบบไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาบำบัดที่เกินจำเป็น

4. การปรับความคิดและพฤติกรรม ปรับวิถีชีวิตและสร้างนิสัยที่สร้างสรรค์เพื่อการดูแลเยียวยา ปรับสมดุลร่างกาย จิตใจ จิตสังคม รวมทั้งจิตวิญญาณ นอกจากจะช่วยให้หายป่วยแล้ว ยังสามารถช่วยให้เรามีความสุขในชีวิตมากกว่าก่อนป่วยอีกด้วย

5. การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าตามแนวทางของจี นอกจากจะช่วยสนับสนุนให้หายป่วยแล้วยังช่วยพัฒนาตนเองและปลดปล่อยศักยภาพที่ดีในตัวเราเพื่อนำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นอีกด้วย เมื่อก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ในชีวิตไปได้เราจะมีความสุขกับชีวิตมากกว่าก่อนป่วยอีกด้วย เหมือนได้ชีวิตและจิตใจใหม่

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีภาวะซึมเศร้าหรือคิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จีขอแนะนำว่าคุณควรไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคหรือประเมินอาการก่อน เพราะจิตแพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรง เมื่อจิตแพทย์วินิจฉัยว่าคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วคุณไม่ต้องการใช้ยาในการรักษา คุณสามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากจิตแพทย์เพื่อเลือกการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ถ้าหากคุณต้องการใช้การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้า ทางเลือกอื่น ๆ คุณสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ที่จะสามารถช่วยแนะนำคุณได้ก่อน เพื่อที่จะได้รับการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือกที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง จะได้ไม่เสียเวลาหรือเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเกินจำเป็น

ปล.กรณีศึกษาที่แชร์ในบทความนี้จีใช้คำว่า “ผู้ป่วยซึมเศร้า”  เพราะจีไม่ใช่คุณหมอที่จะสามารถวินิจฉัยโรคใครได้  เนื่องจากคุณแอน (นามสมมติ) ไม่ได้เข้ารับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ แต่หากเพื่อน ๆ อ่านบันทึกอาการของเธอก็คงจะเข้าใจนะคะ ขอขอบคุณคุณแอน(นามสมมติ) ที่อนุญาตให้แชร์ประสบการณ์หายป่วยจากซึมเศร้า (แบบไม่ใช้ยา) เพื่อเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้เพื่อน ๆ เธอฝากส่งกำลังใจถึงเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้าทุกท่านด้วยค่ะ

ภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าสามารถรักษาบำบัดให้หายได้ หากเราเข้าใจโรค เข้าใจตัวเองและสิ่งที่ต้องเผชิญ รวมทั้งสามารถฝึกดูแลเยียวยาตัวเองและเลือกการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าที่เหมาะสมกับตัวเองค่ะ

Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ยาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ “การรักษาโรคซึมเศร้า”

หากต้องการพูดคุยกับจีหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก สามารถแอดไลน์เพิ่มเพื่อนได้เลยค่ะ

เพิ่มเพื่อน
Thumbnail Seller Link
7 เคล็ดลับ เอาชนะโรคซึมเศร้าด้วยตัวเราเอง
ศศินา แบล็ค
www.mebmarket.com
จีเป็นอดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่เคยป่วยแบบไม่รู้ตัวมาก่อนและรักษาตัวมายาวนานเกือบ 10 ปี ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยทางใจ และไม่คิดว่าตัวเอง…
Get it now

1 COMMENT

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here