ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทำงานได้ไหม? เมื่อก่อนมักมีเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถามจีอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีความกังวลว่าเมื่อป่วยแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ ในตอนที่จีป่วยก็ยังสามารถทำงานได้อยู่ แต่…มีรายละเอียดมากกว่านั้น พอดีจีได้อ่านบทความ โรคซึมเศร้าในคนที่ยังทำงานได้ดี (High functioning depression) จากเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเขียนบทความนี้เพื่ออ้างอิงข้อมูล รวมทั้งแชร์ประสบการณ์ของตัวเองและข้อคิดที่ได้เรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากันค่ะ ซึ่งบทความนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ตัว และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ป่วยแล้วเข้ารับการรักษาด้วยยาและยังคงต้องทำงานหรือเรียนอยู่ เพื่อที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ ตระหนักรู้และสามารถปรับตัวปรับใจได้ดีขึ้นนะคะ

เมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะทำงาน/เรียนได้ไหม?

จีขอพูดถึงใน 2 กรณี กรณีแรกคือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ป่วยและเข้ารับการรักษาด้วยยาแล้วเคยถามมาว่า เมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วจะทำงานหรือเรียนได้ไหม? คำตอบคือได้ค่ะ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถทำงานหรือเรียนได้  แต่ประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงาน รวมทั้งการใช้ชีวิตของเราจะลดลง เพราะเมื่อเราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ผลกระทบที่ตามมาก็จะส่งผลให้สมาธิ สติเราลดลง คุณภาพการนอนก็แย่ลงเพราะสารเคมีในสมองก็จะรวน ทำให้อารมณ์ของเราแปรปรวน ซึ่งยังมีความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้มากมาย ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงอาการรุนแรงหรืออยู่ในช่วงปรับยา คุณหมอก็อาจจะแนะนำให้หยุดลางานหรือหยุดพักการเรียนก่อนในช่วงนั้น

ส่วนกรณีที่ 2 เป็นกรณีที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะยังทำงานและใช้ชีวิตได้อยู่ แต่ต้องต่อสู้กับโรคอย่างไม่รู้ตัว และยังไม่ได้เข้ารับการรักษาบำบัดที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจีนำข้อมูลบทความจากเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยเรื่อง โรคซึมเศร้าในคนที่ยังทำงานได้ดี (High functioning depression) มาเขียนเพิ่มเติมเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ได้ลองสังเกตอาการของตัวเองดูเพื่อที่จะตระหนักรู้และเข้ารับการรักษาบำบัดได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : โรคซึมเศร้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องรับมือ

คุณอาจกำลังต่อสู้อยู่กับโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวก็ได้

กรณีของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ยังอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วยอยู่นะคะ บทความของคุณหมอมีฟ้าจากเพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยที่จีอ้างอิงถึงนั้น คุณหมอเขียนบทความเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ที่อาจจะกำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า แต่อาจไม่รู้ตัว เนื่องจากอาจจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ป่วยเป็น โรคซึมเศร้าในคนที่ยังทำงานได้ดี (High functioning depression) ด้วยความที่ผู้ป่วยยังรับผิดชอบงานได้ดี ดังนั้นกว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ก็อาจจะมี โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (มากกว่า 2 ปี) แล้วซึ่งจีเองก็จัดอยู่ในกลุ่มนั้น แล้วตอนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้ง ก็ยังสามารถทำงานได้อยู่ จนกระทั่งถึงจุดที่รู้สึกว่าชีวิตและจิตใจมันพังจนทนไม่ไหวแล้ว จึงตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยยาอีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นก็อาการเริ่มรุนแรงแล้ว ในช่วงปรับยาทรมานมาก แต่โชคดีที่สามารถขอลาหยุดพักงานได้ช่วงหนึ่ง แล้วก็กลับมาทำงานได้ต่อ แต่ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานหลายอย่าง ซึ่งสิ่งที่คุณหมอได้ให้ข้อมูลไว้นั้นมันใช่เลย

High functioning depression ซึ่งคุณหมอมีฟ้าขอแปลเป็นไทยเองว่า “โรคซึมเศร้าในคนที่ยังทำงานได้ดี” คุณหมอได้พูดถึงในกรณีของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่ยังอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการ เพราะยังสามารถทำงาน ยังเข้าสังคมและใช้ชีวิตได้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงลักษณะหรือพฤติกรรมที่คล้าย ๆ กันที่พบบ่อยของคนกลุ่มนี้ ก็คือ

  • มักเป็นคนที่มีความสามารถสูง สมัยเรียนก็เป็นนักเรียนที่เรียนดี แม้ว่าจะมีโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังทำงานได้มาตรฐานเหมือนเดิม แต่ที่แตกต่างก็คือ พลังชีวิตทั้งหมด ถูกเอาไปใช้กับการทำสิ่งที่ต้องทำเท่านั้น นั่นก็คือการรับผิดชอบงาน และการ “ทำตัวปกติ” แล้วเมื่อกลับถึงบ้าน ค่อยไปพังตามลำพัง

  • คนที่เป็นแบบนี้ ภายนอกเขาจะดูเหมือนปกติ ยังพูดคุยยิ้มแย้ม ดูไม่ได้ทรุดโทรมอะไร ยังทำงานได้อย่างที่เคยทำ แต่ไม่มีใครรู้ว่า จริง ๆ แล้วเขารู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอด

  • ในใจรู้สึกเบื่อหน่าย ว่างเปล่า หนักอึ้ง หรือไม่ยินดียินร้าย เฉย ๆ กิจกรรมหรือสิ่งที่เคยชอบทำ ก็ไม่รู้สึกเพลิดเพลินหรือมีความสุขกับมันเหมือนเดิม บางทีลืมไปเลยว่าเมื่อก่อนตัวเองชอบทำอะไร เช่น ทำขนม เล่นดนตรี ดูกีฬา เป็นต้น แต่จะใช้เวลาไปกับการนั่ง ๆ นอน ๆ หรือไถมือถือไปแบบไร้จุดหมาย หรือนอนมองเพดานอยู่อย่างนั้น  ซึ่งจีเองก็เคยอยู่ในอารมณ์ที่กล่าวมานี้แล้ว

  • รู้สึกว่าหมดพลัง ไร้เรี่ยวแรง แม้กระทั่งจะดูแลตัวเอง หลายคนไม่ได้อาบน้ำสระผม หรือดูแลสุขอนามัยและความเป็นอยู่ของตัวเอง ของตัวเองเหมือนเช่นเคย แต่จะทำเมื่อต้องออกไปพบปะผู้คน  

  • ส่วนเรื่องปัญหาการนอนอาจจะยังไม่มาก อาจจะนอนหลับได้แต่หลับไม่ดี ยังสามารถตื่นไปทำงานได้ แต่อาจจะรู้สึกต้องฝืนใจ เวลาอยู่ต่อหน้าผู้คนหรือเข้าสังคมก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนโหมดอารมณ์พูดคุยยิ้มแย้มได้เหมือนนักแสดงที่ต้องมีคติว่า The show must go on. พยายามทำตัวปกติ ซ่อนเก็บความรู้สึกขุ่นมัวหรือหม่นเศร้าเอาไว้ เพราะไม่อยากให้คนอื่นเห็นความผิดปกติแล้วมาทัก ใส่หน้ากากไปง่ายกว่า

  • การที่ยังทำงานได้อยู่และไม่มีปัญหากับใคร ผู้ที่ป่วยแต่ไม่รู้ตัวกลุ่มนี้มักจะเข้าใจว่าที่ตนเองรู้สึกเหนื่อยล้าหรือต้องสู้อยู่ตลอดเวลานั้น อาจเป็นเพราะผลจากการใช้ชีวิตที่ต้องทำงานหรือเรียนหนักเลยทำให้รู้สึกเช่นนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วคนรอบตัวหรือคนใกล้ชิด ก็อาจจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็มักจะคิดว่า คงจะเหนื่อยจากการทำงานหรือการเรียนเช่นกัน

ข้อคิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อรับมือกับโรคซึมเศร้า

1. ช่วงเริ่มกินยาหรือปรับยา จีและเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ที่ปล่อยให้ตัวเองป่วยนานแล้ว แต่ไม่ยอมไปพบจิตแพทย์ เวลาปรับยานั้นต้องใช้เวลา เพื่อที่คุณหมอจะปรับยาได้เหมาะสมกับตัวเรา ยาต้านเศร้าจะมีผลข้างเคียง ยิ่งถ้ามีอาการเริ่มรุนแรง  ช่วงนั้นเราอาจจะต้องให้เวลาตัวเองได้หยุดพัก ถ้าหากต้องฝืนไปทำงานหรือเรียนแล้วรู้สึกไม่ไหว ก็อย่าฝืนเพราะจะยิ่งรู้สึกแย่ อนุญาตให้ตัวเองได้หยุดพัก โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเวลาร่างกายเราป่วยเรายังต้องหยุดพัก  จิตใจป่วยก็ต้องการพักเช่นกัน เมื่ออาการเริ่มทรงตัวแล้วค่อยกลับไปทำงานหรือเรียนตามปกติจะดีกว่าค่ะ

2. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะมีอารมณ์ที่อ่อนไหว ร้องไห้ง่าย มีเรื่องกระทบกระเทือนใจเล็กน้อยก็รู้สึกอยากร้องไห้ หลายคนเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกด้านลบเอาไว้ จีเองช่วงแรกก็เป็นเช่นนั้น วิธีรับมือคืออนุญาตให้ตัวเองร้องไห้ออกมาไม่ต้องอั้น ถ้าร้องต่อหน้าคนอื่นแล้วไม่สบายใจ ให้ไปหาพื้นที่ระบายแล้วร้องออกมาให้เต็มที่ค่ะ จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยทำงานต่อได้

3. เปิดใจเรียนรู้และยอมรับที่จะอยู่กับโรคอย่างเข้าใจ ทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชที่เราเป็นอยู่ เพื่อที่จะเลือกการรักษาบำบัดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และให้เวลาตัวเองในการรักษา ให้เวลาร่างกายจิตใจได้ฟื้นฟูเยียวยาตัวเอง อย่าเร่งรัดหรือกดดันให้มันหายเร็ว ๆ เพราะมันเป็นไปได้ยาก หรือยังเป็นไปไม่ได้อย่างที่ใจเราต้องการ ยิ่งอยากหายจะยิ่งไม่หาย เพราะเราจะเพิ่มความเครียด ความวิตกกังวลและกดดันให้ตัวเราเอง กระตุ้นอาการ อารมณ์ตัวเองให้แย่ลงไปอีก

4. ฝึกปรับสมดุลชีวิตและจิตใจตัวเราเอง เพื่อช่วยให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพและได้ผลดี ดีกว่าพึ่งยาหรือพึ่งหมอเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าหากป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรังแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่จีพบรวมทั้งตัวจีเองและเพื่อนผู้ป่วยอีกมากมาย รักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวก็ไม่หาย

5. ถ้าพบว่าตัวเองมีปัญหาทางด้านจิตใจหรือปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ที่พยายามแก้ไขหาทางออกด้วยตัวเองแล้ว ไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ ควรเข้ารับการเยียวยาบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ อย่าปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง เพราะจะยิ่งทำให้ซับซ้อนและเยียวยาแก้ไขได้ยากขึ้น

6. โรคซึมเศร้าในคนที่ยังทำงานได้ดี (High functioning depression) คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ที่จีพบ (รวมถึงตัวจีเอง) มักจะมีบุคลิกภาพแบบเพอร์เฟกชันนิสต์ คาดหวังสูง มักแบกความคาดหวังทั้งของตัวเองและผู้อื่นไว้ ไม่ค่อยยืดหยุ่นกับตัวเอง มักชอบตำหนิหรือต่อว่าตัวเอง ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง กดดันตัวเองเกินไป จนทำให้เครียดและวิตกกังวลได้ง่าย ไม่ค่อยใส่ใจดูแลกายใจตัวเองเท่าที่ควร เวลาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วมักจะมีความซับซ้อนทางความคิดและจิตใจ  มีความพึงพอใจในตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) รวมทั้งผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบ INFJ  และมีปมขัดแย้งภายในใจวัยเด็กหรือประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ดีร่วมด้วย จำเป็นมากที่ต้องได้รับการเยียวยาบำบัดจิตใจและปรับบุคลิกภาพ

7 . เมื่อตระหนักรู้แล้วว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือรู้สึกว่าชีวิตจิตใจเสียฟังก์ชั่น เสียสมดุลไปจากปกติ ควรตัดสินใจไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยหรือประเมินอาการ อย่ารอให้ชีวิตและจิตใจพังไปมากกว่านั้น เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบหรือปัญหาชีวิตมากขึ้น การรักษาและการเยียวยาบำบัดก็จะยิ่งซับซ้อนและใช้เวลานานขึ้นไปด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ข้อคิดเรื่องงานที่ได้จากโรคซึมเศร้า

สำหรับเพื่อน ๆ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว และมีอาการ อารมณ์ความรู้สึกหรือพฤติกรรมดังกล่าวมา จีขอแนะนำว่าเราควรใส่ใจดูแลเยียวยาทางด้านจิตใจควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา เพื่อที่จะช่วยให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพมากขึ้นนะคะ เพราะโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ นั้น เป็นโรคทางใจ ถึงแม้ร่างกายจะยังคงรู้สึกว่ายังใช้ชีวิตไหวอยู่ แต่จิตใจหรือโลกภายในใจเราพัง ก็ไม่อาจฝืนต่อไปได้เพราะมันจะพังยิ่งกว่าเดิม ลองอ่านบทความเพิ่มเติมใน การปรับสมดุลชีวิตจิตใจตัวเอง มองหาการเยียวยาบำบัดจิตใจที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความเจ็บป่วยของตัวเราเองนะคะ จีขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ไปได้เช่นกันค่ะ

สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองไม่ได้ป่วย แต่พออ่านบทความนี้ แล้วพบว่าตัวเองกำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าอยู่แต่อาจไม่รู้ตัว ก็ขอให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและอาการ เพื่อที่จะได้รักษาบำบัดได้อย่างถูกต้องเหมาะสมนะคะ

อ้างอิงข้อมูล : เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

All Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : โรคซึมเศร้าเรื้อรัง พร้อมการเยียวยาบำบัดที่ได้ผลดี

เพิ่มเพื่อน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here