คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองไว้คนเดียวหรือเปล่า? กับดักทางความคิดที่เกิดจากนิสัยหรือความเคยชินทางความคิด ที่ทำให้เรารู้สึกกดดันตัวเอง และพยายามที่จะฝืนความรู้สึกนึกคิดตัวเองบังคับตัวเองไม่ให้รู้สึกตามความเป็นจริง เพราะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ที่คิดไม่ดีหรือรู้สึกไม่ดีกับผู้อื่น จีเชื่อว่าคนที่มีโรคซึมเศร้าหลาย ๆ คน หรือแม้กระทั่งคนปกติที่ไม่ได้ป่วย บางคนก็อาจจะติดกับดักทางความคิดนี้เช่นกัน แต่คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเมื่อติดกับดักนี้แล้วจะทุกข์ใจมากกว่าเพราะอาจจะหลงลืมความเป็นจริงบางอย่างไป อยากให้เพื่อน ๆ ลองสังเกตใจตัวเอง เวลาที่เราเกิดความรู้สึกไม่ดีที่เกิดจากความคิดที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโห  เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันใจเรา เรามักจะพยายามควบคุมใจเราไม่ให้รู้สึกนึกคิดแบบนั้น เพราะไม่อยากให้คนมองเราในสายตาที่ไม่ดี เพราะไม่อยากทำให้คนที่เรารักหรือคนรอบตัวเสียใจหรือรู้สึกไม่ดีกับเราจนมันทำให้เราหลงลืมไปว่า เราก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนนึงที่สามารถจะมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งด้านดีและด้านไม่ดีได้

การที่เราบังคับตัวเองเกินไปโดยพยายามที่จะไม่ให้ตัวเองรู้สึกไม่ดีแบบนั้น มันเหมือนการต่อต้านความรู้สึก แล้วกลบเกลื่อนมัน ฝังมันไว้ภายในใจ ซึ่งความรู้สึกลบ ๆ ที่เราสะสมมันมายาวนานตลอดชีวิตมันก็มีมากโขอยู่แล้ว ยิ่งเราทำแบบนั้นมันก็เหมือนเราสะสมมากขึ้น พอเราเจอเหตุการณ์หรือปัจจัยที่กระตุ้นอารมณ์เราซ้ำ ๆ มันก็จะยิ่งทำให้เรารู้สึกกดดันมากขึ้น แล้ววันนึงเมื่อเรากดดันสุด ๆ อารมณ์ที่เราเก็บกดเหล่านั้นมันก็ระเบิดออกมา แล้วเราก็มานั่งเสียใจ ผิดหวังและโทษตัวเอง โกรธตัวเอง เกลียดตัวเอง จีเอง ติดกับดักทางความคิด นี้มายาวนาน

วิธีที่ช่วยให้เราหลุดออกจากกับดักทางความคิด

 

1. ฝึกทำความเข้าใจตามความเป็นจริง

ความจริงแล้วคนเราทุกข์คนล้วนสามารถมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งด้านดีและไม่ดี ความรู้สึกที่ไม่ดีนั้นมันสามารถเกิดขึ้นกับเราทุกคนได้ ตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ธรรมดาคนนึง   ดังนั้นให้โอกาสตัวเอง อนุญาตให้ตัวเองได้แสดงความรู้สึกตามความเป็นจริงบ้างแล้วเรียนรู้จากมัน เพื่อที่จะปลดปล่อยมันออกไปในแบบที่สร้างสรรค์หรือหาวิธีรับมือกับมันได้ดีขึ้น ทั้งความรู้สึกดีและไม่ดีเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและจิตใจเรา

 

2. ฝึกรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อรับมือกับมัน

ฝึกสติเพื่อรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เพียงแค่รับรู้ว่าเรากำลังรู้สึกเช่นไรแล้วคอยตามดูรู้ทันมัน โกรธก็รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกโกรธ เกลียดก็รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึก เกลียด หงุดหงิดก็รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกหงุดหงิด หากเราฝึกตระนักรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความรู้สึกด้านลบเราจะสามารถรับมือกับมันได้ดีขึ้น เมื่อเรามีสติรู้เท่าทันมัน ความรู้สึกเหล่านั้นมันจะลดระดับลง แต่ถ้าเราไม่เคยฝึกแบบนี้มันก็จะกลายไปเป็นอารมณ์และการกระทำทางลบ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตัวเราเองและผู้อื่นได้

 

 

3. ให้รับรู้ความรู้สึกเฉย ๆ ว่าเรากำลังรู้สึกเช่นนั้น

เมื่อรู้ว่าเรากำลังรู้สึกเช่นไร ก็แค่รับรู้เฉยๆ แต่ไม่เข้าไปตัดสินหรือปรุงแต่งมันต่อ เหมือนเราถอยออกมามองความคิดและจิตใจเราเอง ฝึกไปแบบนี้เรื่อย ๆ แล้วเราจะรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดและจิตใจเรา เพราะธรรมชาติของจิตมันไม่ชอบการบังคับ   ยิ่งไปบังคับ  มันก็จะยิ่งดิ้นรน  ใจเราก็จะยิ่งทุกข์หนัก จะดีกว่าไหมหากเราลองมาทำความเข้าใจกับจิตใจตัวเองดู

การฝึกตระหนักรู้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเราเอง จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นความคิดและจิตใจตัวเองในแบบที่มันต้องเป็นไปตามความเป็นจริง โดยที่เราไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรฝึกเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะช่วยให้เราหลุดออกจากกับดักทางความคิด และสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น อนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกนึกคิดตามความเป็นจริงบ้างแล้วเรียนรู้จากมัน เพื่อที่เราจะได้มีความสุขกับชีวิตในแบบที่ควรจะเป็น

Photo by Pexels.com, Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>> โรคซึมเศร้ากับ “ภาวะสิ้นยินดี”และวิธีรับมือ

เพิ่มเพื่อน

1 COMMENT

Leave a Reply to 7 วิธี รับมือและจัดการกับ "ความรู้สึกไร้ค่า" | GMinds Cancel reply

Please enter your comment!
Please enter your name here