“การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” คุณคงเคยได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ แต่บางคนอาจจะยังไม่ได้รับรู้อย่างลึกซึ้ง หากยังไม่เคยเจ็บป่วยแบบทุกข์ทรมาน รุนแรง หรือเรื้อรัง จีเชื่อว่าหลายคนที่เคยเจ็บป่วยผ่านช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานนี้มาแล้ว จะรู้ซึ้งถึงประโยคนี้ได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เพราะเมื่อเราได้รับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยและผลกระทบที่เกิดขึ้น ความรู้สึกในตอนนั้นมันก็ไม่อาจมีอะไรสำคัญเท่ากับความอยากหายป่วยแล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกแล้ว 5 เคล็ด(ไม่)ลับ ปรับก่อนป่วยหรือป่วยแล้วก็หายได้ จะช่วยเป็นแนวทางฟื้นฟูเยียวยาตัวเองให้ผู้ป่วยได้ทุกโรค ซึ่งเป็นแนวทางส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเยียวยาบำบัดโรคแบบองค์รวม ที่ช่วยให้ผู้ป่วยทั้งโรคทางกายและโรคทางใจนั้น สามารถก้าวข้ามความเจ็บป่วยของตัวเองไปได้ และยังสามารถป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้อีกด้วย ส่วนคนที่ยังไม่ป่วยก็สามารถใช้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคได้เช่นกัน
ในตอนที่จีเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ มันสร้างความทุกข์ทรมานทั้งทางกายทางใจ และจีเองก็ใช้ยารักษามายาวนานกว่า 6 ปี ก็ยังไม่อาจหายป่วยได้ ส่งผลให้จีไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต และพยายามหาหนทางว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้อาการดีขึ้นและหายป่วยได้ จนจีได้ค้นพบแนวทางที่แสนจะธรรมดาแต่ว่าทรงพลัง มันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากที่ช่วยให้จีสามารถหยุดยารักษาโรคซึมเศร้าได้ และหายป่วยจากทุกโรคได้ นั่นก็คือ การปรับสมดุลชีวิตและจิตใจตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญตาม แนวทางของแพทย์ทางเลือกหรือการรักษาบำบัดโรคแบบองค์รวม
การปรับสมดุลชีวิต ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะช่วยให้คุณห่างไกล “โรค” ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกายหรือโรคทางใจ ไม่ว่าคุณจะป่วยเป็นโรคอยู่หรือไม่ป่วย เช็คลิสต์ปรับสมดุลนี้จะช่วยให้คุณสามารถดูแลใส่ใจตัวเองให้ร่างกายและจิตใจสมดุล มีความสุขกับการใช้ชีวิต หากคุณต้องกินยารักษามันจะช่วยให้คุณสามารถลดการใช้ยาและสามารถหยุดยารักษาได้ในโรคที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องพึ่งยาเพียงอย่างเดียว หากคุณได้ตระหนักรู้ว่า ร่างกายและจิตใจของคนเรานั้นมีกระบวนการเยียวยาตัวเองที่ยอดเยี่ยมและมหัศจรรย์ คุณหมอและยาจะช่วยรักษาอาการของโรคให้ทุเลาลงได้ ช่วยควบคุมอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อน แต่การฟื้นฟูเยียวยาและสร้างความสมดุลให้ชีวิตจิตใจเรานั้น ตัวเราเองมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและลงมือทำด้วยตัวเอง
5 เคล็ด(ไม่)ลับ ปรับก่อนป่วย/ป่วยแล้วก็หายได้
1. นอนอย่างมีคุณภาพ (Sleep Well)
“การนอนคือการสะสมสารเคมีในสมองใหม่” อาจารย์หมอท่านหนึ่งที่เป็นจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจีได้เคยมีโอกาสไปเข้ารับฟังการบรรยายของท่านได้กล่าวไว้ และท่านก็ได้อธิบายวงจรการนอนของคนเราให้ได้เข้าใจมากขึ้น และเคล็ดลับในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชให้มีอาการดีขึ้นได้เร็ว ยิ่งทำให้จีมั่นใจในแนวทางการเยียวยาบำบัดของตัวเองที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ นอนตามเวลาที่สมองจะสามารถหลั่ง “โกรทฮอร์โมน” ได้ (ช่วงเวลาประมาณห้าทุ่มถึงตีหนึ่ง) เพื่อซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกายและช่วยให้สมองหลั่งสารเคมีต่าง ๆ ได้อย่างสมดุล เราควรนอนก่อนหรือประมาณสี่ทุ่มเพราะกว่าเราจะหลับลึกก็พอดีกับช่วงเวลาช่วงโกรทฮอร์โมนหลั่ง และนอนให้ได้อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง ตามที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำ
เมื่อการนอนของเราดีมีคุณภาพแล้ว ระบบการทำงานของร่างกาย สมอง และจิตใจเราก็จะสมดุลและดีตามไปด้วย แถมยังช่วยให้ดูอ่อนเยาว์ได้อีกด้วย สำหรับเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชอื่น ๆ ถ้าอยากให้ตัวเองมีอาการดีขึ้นแบบไม่เสียเวลา ขอให้โฟกัสเยียวยาเรื่องการนอนของตัวเองให้ดี นี่เป็นสิ่งที่คุณหมอของคุณ(อาจ)ไม่เคยบอก จากประสบการณ์การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ทั้งของตัวเอง และการช่วยเหลือเยียวยาบำบัดผู้ป่วยที่เข้ามาเรียนรู้ไปด้วยกัน พบว่าถ้าการนอนดีมีคุณภาพมากขึ้น อาการของโรคก็จะดีขึ้นได้แบบไม่เสียเวลารักษาเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : 7 เคล็ดลับ “นอนหลับง่าย” แบบไม่ต้องพึ่งยา
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (Exercise)
“การออกกำลังกาย คือ ยาวิเศษ” จีมักจะบอกกับเพื่อนผู้ป่วยที่เข้ามาพูดคุยและเยียวยาบำบัดกับจีเสมอ เพราะจีได้พิสูจน์ด้วยตัวเองและค้นพบงานวิจัยมากมาย รวมทั้งได้รับฟีดแบคหรือผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยมจากผู้ป่วยที่เข้ามาเยียวยาบำบัดไปด้วยกันเป็นการยืนยัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจะช่วยให้สมอง ร่างกายและจิตใจเราฟื้นฟูเยียวยาตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ๆ ละประมาณ 30 นาที สมองจะหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ได้อย่างสมดุล ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สมองทำงานได้สมดุล จิตใจก็มีความสุข ช่วยลดความเครียดความกังวลได้ดีมาก และยังช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นด้วย
จีและเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชอื่น ๆ ได้ใช้การออกกำลังกายเพื่อเยียวยาฟื้นฟูกายใจ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า การออกกำลังกายคือยาวิเศษและไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ช่วยให้เรามีอาการทรงตัว และดีขึ้นได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่กินยาอย่างเดียว แต่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ออกกำลังกายบำบัดโรคซึมเศร้า (Exercise Therapy)
3. กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง (Eat good)
คุณรู้หรือไม่ว่าอาหารส่งผลต่ออารมณ์ของคนเรา? และการมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี ก็สามารถส่งผลก่อให้เกิดความเจ็บป่วยหรือโรคได้ ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ เมื่อเปรียบเทียบชีวิตคนเราในปัจจุบันกับผู้คนสมัยก่อน คนเราในปัจจุบันนั้นเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น สิ่งที่ส่งผลอย่างชัดเจนคือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ในยุคปัจจุบันคนเราใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ชอบความสะดวกสบาย รวดเร็ว ซึ่งอาหารขยะ (Junk Food) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้คนเราได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ เพราะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย การปรับแนวทางการกินของเราให้มีคุณภาพมากขึ้น กินผักและผลไม้สดให้มากขึ้น หรือถ้าหากจำเป็นต้องใช้ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในกรณีที่ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย อาจจะด้วยช่วงวัยหรือพฤติกรรมการกินอาหารของเราไม่ดี มันก็จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของเราและช่วยสนับสนุนให้เราหายป่วยได้ด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : นักโภชนาการแนะนำอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
4. ดื่มน้ำให้เพียงพอ (Drink enough water)
จีเป็นคนหนึ่งที่เคยมองข้ามความสำคัญของการดื่มน้ำเปล่า พอกายใจเจ็บป่วยจึงเห็นว่าการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายต้องการนั้นสำคัญมาก เพราะน้ำและของเหลวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกายเรานั้นถึง 70% มีเพื่อนผู้ป่วยมากมายหรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ป่วยยอมรับกับจีว่าไม่ค่อยดื่มน้ำ ไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญ เพิ่งตระหนักรู้หรือรู้ตัวว่าตัวเองนั้นดื่มน้ำน้อยมากในแต่ละวัน จีแนะนำว่าควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายต้องการ อย่างน้อยวันละ 8 แก้วหรือปรับให้เหมาะสมกับช่วงวัยและสุขภาพของตัวเอง เพื่อที่จะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายและสมองทำงานได้ดีขึ้น เราจะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่ามากขึ้นด้วย น้ำเปล่านั้นมีประโยชน์มากมายมากกว่าที่เราคิด ถ้าหากคุณต้องการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ต้องการปรับสมดุลกายใจตัวเองลองหันมาดื่มน้ำให้มากขึ้นนะคะ จีและเพื่อนผู้ป่วยมากมายได้พิสูจน์แล้วว่าช่วยให้สุขภาพกายใจเราดีขึ้นได้จริง ๆ ค่ะ
5. ฝึกรับมือและจัดการกับความเครียด(Stress management)
“ความเครียดเรื้อรัง” เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังไม่ติดต่อได้มากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ การฝึกรับมือและจัดการกับความเครียด ถือได้ว่าเป็นทักษะที่สำคัญในยุคปัจจุบันที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ สิ่งที่จีและเพื่อนผู้ป่วยฝึกเพื่อรับมือและจัดการกับความเครียด อย่างแรกเลยก็คือ การฝึกหายใจเพื่อคลายเครียด คลายความกังวล ด้วยการหายใจตามที่ผู้เชี่ยวชาญมากมายแนะนำแล้วได้ผลดี การฝึกหายใจแบบ 4-7-8 และที่สำคัญเราควรฝึกสังเกตลมหายใจของตัวเราเอง เพราะคนที่เครียดหรือวิตกกังวลง่ายมักหายใจสั้น หรือชอบกลั้นลมหายใจเหมือนลืมหายใจไปชั่วขณะ แต่ไม่ค่อยรู้ตัว การฝึกแบบนี้จะช่วยให้เรามีสติและโฟกัสอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ไม่ปล่อยใจให้วนลูปไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดด้านลบที่เป็นอัตโนมัติ เราจะสามารถรับมือและจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้นด้วย
อย่างที่สองคือ การฝึกระบายความเครียดอย่างสร้างสรรค์ คนที่มีความเครียดสะสมมักจะชอบเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีเอาไว้ หรือไม่สามารถระบายด้วยการพูดคุยกับใครได้ ถ้าหากเราเก็บกดสะสมอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดด้านลบเอาไว้มาก ๆ โดยที่ไม่ได้ระบายออก หรือเมื่อเราเกิดความเจ็บป่วย จะถูกกระตุ้นได้ง่ายและมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ เมื่อมีความเครียดสะสมเราก็จะคิดอะไรไม่ออก และอาจมีความรู้สึกที่มันท่วมท้น จนไม่สามารถรับมือหรือจัดการกับความรู้สึกของตัวเองได้ การฝึกระบายออกที่ดีเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ ลองเลือกวิธีระบายอารมณ์ที่เหมาะสมกับตัวเองดูนะคะ 6 วิธี ระบายอารมณ์เพื่อปลดปล่อยความรู้สึก
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราอาจมองข้ามไป ก็คือ การฝึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ เราใช้ชีวิตมาอย่างหนักหน่วง บางทีก็อาจลืมไปว่ากายใจเราเขาไม่ใช่เครื่องจักร แล้วก็ต้องการหยุดพักผ่อนคลายเพื่อชาร์จพลังชีวิต ผู้ป่วยหลายคนหรือแม้กระทั่งผู้ที่มีความเครียดแต่ไม่รู้ตัว ไม่สามารถผ่อนคลายตัวเองได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะถูกกระตุ้นด้วยความเครียด ความกลัว ความรู้สึกกังวลหรือความรู้สึกด้านลบ จนระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการกิน การนอนได้เป็นอย่างมาก การฝึกผ่อนคลายตัวเองในทุก ๆ วันเป็นเรื่องที่สำคัญและเราควรทำมาก เพราะจะช่วยให้เรารู้สึกสงบ มีสมาธิ มีสติ และมีพลัง มันจะช่วยนำพาชีวิตและจิตใจเรากลับสู่สมดุลปกติได้มากขึ้น
และสุดท้าย หากพบว่าตัวเองมีปัญหาทางด้านจิตใจและจิตสังคม หรือมี ความเครียดที่ขัดแย้งภายในใจ ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกดดันจากครอบครัว สถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถปรับตัวปรับใจกับปัญหาชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เราเกิดความเจ็บป่วย แล้วเราไม่สามารถที่จะรับมือหรือจัดการได้ ควรขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักบำบัด หรือผู้มีประสบการณ์ที่ก้าวข้ามผ่านมาแล้ว เพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถพาตัวเองก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ง่ายขึ้น หรือถ้าหากใครรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิต มีความเจ็บป่วยทางใจ ยังไม่กล้าไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ สามารถใช้ บริการโทรรับฟังด้วยใจ ก่อนได้ และถ้าหากต้องการพี่เลี้ยงหรือผู้ที่สนับสนุนเป็นกำลังใจ ช่วยปรับสมดุลชีวิตจิตใจได้ง่ายขึ้น ลองอ่านบทความเพิ่มเติมดูได้นะคะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : คอร์สเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต
สรุปหลักการดูแลสมดุลชีวิตและจิตใจตัวเอง ก็คือ นอนอย่างมีคุณภาพ (Sleep Well), ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (Exercise), กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง (Eat good), ดื่มน้ำให้เพียงพอ (Drink enough water), ฝึกรับมือและจัดการกับความเครียดให้ดี (Stress management) หรือจำง่าย ๆ ก็คือ “SEEDS” ในภาษาอังกฤษหมายถึง เมล็ดพันธ์พืช ถ้าเราปลูกเมล็ดพันธ์ที่ดีและเราดูแลเอาใจใส่ดี ต้นไม้ก็จะเติบโตงดงามได้ เฉกเช่นชีวิตและจิตใจเราเช่นกันค่ะ
สิ่งเหล่านี้เราล้วนรู้กันอยู่แล้วว่าถ้าเราทำมันจะดีต่อร่างกายและจิตใจเรา แต่เราขาดการใส่ใจ ละเลยที่จะดูแลตัวเอง ทำให้ชีวิตเราเสียสมดุลไป จึงส่งผลก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้ทั้งโรคทางกายและโรคทางใจ หากใครที่กำลังป่วยอยู่ลองค่อย ๆ ปรับสมดุลทำทุกอย่างให้ต่อเนื่อง จะสามารถช่วยสนับสนุนการรักษาด้วยยาให้อาการดีขึ้นได้เร็ว แนวทางที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเวชจะหายป่วยได้ ถ้าหากคุณปรับสมดุลทั้ง 3 ด้านนี้ได้ คือ ด้านร่างกาย จิตใจและจิตสังคม หากใครรู้สึกว่าชีวิตจิตใจเริ่มเสียสมดุลแล้วไม่อยากป่วย ก็สามารถนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสมดุลและรักษาสมดุลชีวิตไว้ให้ดี จะได้ห่างไกลโรคหรือป้องกันความเจ็บป่วยได้นะคะ
จีหวังว่าบทความ 5 เคล็ด(ไม่)ลับ ปรับก่อนป่วย/ป่วยแล้วก็หายได้ นี้ จะช่วยให้ทุกคนได้ฉุกคิดหรือตระหนักรู้ในความสำคัญของสิ่งที่เราจำเป็นต้องใส่ใจ หรือสิ่งที่ดีมีประโยชน์ที่เราอาจจะมองข้ามมันไป ซึ่งมันเป็นแนวทางที่ดีและสำคัญในการที่จะช่วยให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างสมดุลและมีความสุขนะคะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : แชร์ประสบการณ์หายป่วยจากซึมเศร้า (แบบไม่ใช้ยา)
