คุณกำลังมองหาแนวทางในการเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวลอยู่หรือเปล่า? จีนำกรณีศึกษาที่ได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่จีเคยช่วยดูแลเยียวยาและสนับสนุนถ่ายทอดแนวทางการเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวลควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยามาเป็นแนวทางให้กับเพื่อนผู้ป่วยโรควิตกกังวลได้มีทางเลือก ในการเยียวยาและพัฒนาตนเองเพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ถึงแม้จะต้องกินยารักษาอยู่ อย่างเช่นผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่ยินดีและเต็มใจให้แชร์เรื่องราวประสบการณ์การฝึกเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวลด้วยตัวเราเองนี้ และหวังว่ากรณีศึกษานี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ เช่นกันค่ะ
น้องวิทย์ (นามสมมติ) ป่วยเป็น โรควิตกกังวล ซึ่งเข้ารับการรักษาด้วยยามาประมาณ 3 เดือนที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง น้องบอกว่าก่อนหน้านี้เคยป่วยและรักษาด้วยยามาแล้วเคยดีขึ้น แต่กลับมาเป็นอีก บางทีรู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวเป็นบ้า ไม่สบายใจเลยอยากได้วิธีรับมือและจัดการกับอาการของตัวเองจึงทักมาทาง เพจเยียวยารักษาใจ : Heal Your Mind by GG น้องเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าหลังจากที่อาการโรควิตกกังวลกำเริบอีกครั้งได้เปลี่ยนโรงพยาบาลที่รักษาใหม่ แล้วกินยามาได้ประมาณ 2 สัปดาห์อาการเริ่มดีขึ้น แต่อยู่ดี ๆ ก็กลับมาวิตกกังวลอีก มีความคิดวนอยู่กับมันจนมีความรู้สึกว่ากลัวควบคุมตัวเองไม่ได้ กลัวใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้
จุดเริ่มต้นจากความขี้กังวลจนกลายเป็นโรควิตกกังวล
จีได้พูดคุยกับน้องวิทย์เพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุหรือต้นตอของโรควิตกกังวล ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเยียวยาแก้ไขได้ถูกจุด น้องเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟังว่า เป็นคนที่ขี้กังวลมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วสาเหตุสำคัญที่คิดว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนั้นเนื่องมาจากการลองใช้สารเสพติดหรือกัญชามา 3 ครั้งในชีวิต แต่ละครั้งจะมีอาการเหมือนฝัน ๆ เบลอ ๆ แล้วก็จะรู้สึกกลัวความรู้สึกแบบนี้เพราะกลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หมอบอกว่าอาจเป็นเพราะสารในกัญชาไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองบางอย่าง อาการนี้เรียกว่า “แฟลชบูม” ซึ่งคุณหมอบอกว่าอาการนี้มันรักษาไม่หาย มันเหมือนฟ้าผ่าจะเกิดขึ้นตอนไหนไม่มีใครรู้ แต่กินยาแล้วจะไม่เป็น
จากการที่น้องวิทย์เป็นคนที่มีพื้นอารมณ์ขี้กังวลอยู่แล้ว พอมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกลัวฝังใจเพราะอาการแฟลชบูมนั้นเกิดขึ้นซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง ครั้งนึงเป็นเวลา 2-3 วัน แล้วก็กังวลกับเรื่องนั้นซ้ำ ๆ จนครั้งล่าสุดน้องก็เกิดอาการวิตกกังวลจนสมองหยุดคิดไม่ได้และเริ่มกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกของโรควิตกกังวลที่น้องวิทย์เล่าให้ฟังค่ะ
จะรับมืออย่างไรในวันที่ใจป่วย?
ด่านสำคัญที่ผู้ป่วยโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชที่ต้องเผชิญคล้าย ๆ กัน แล้วมันก็มักจะสร้างความทุกข์ทรมานใจได้หนักกว่าตัวโรคด้วยซ้ำ นั่นก็คือ “ใจเรายอมรับความจริงไม่ได้” จนผู้ป่วยมีความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล สับสนวุ่นวายใจ และ “อยากหายป่วยจากโรคนั้นเร็ว ๆ” การฝึกวางใจในการรักษาบำบัดและการฝึกที่จะอยู่กับโรคอย่างเข้าใจจะช่วยลดความทุกข์ทางใจนั้นได้มากเลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่รู้ถึงการทำงานของความคิดจิตใจตัวเอง ไม่รู้จะรับมือยังไง เรามักจะปฏิเสธ หลีกหนี ผลักไสโรค จิตใจจึงดิ้นรนฟุ้งซ่านวุ่นวายแล้ววนลูปอยู่อย่างนั้น
หากเพื่อน ๆ ท่านใดที่กำลังตกอยู่ในภาวะแบบนี้ ก็ลองทำความเข้าใจกับโรคเพื่อที่จะยอมรับความจริงและฝึกอยู่กับมันอย่างเข้าใจ แล้วอย่าลืมกินยาตามที่คุณหมอแนะนำและไปพบคุณหมอตามนัดเสมอ แค่วางใจตัวเองให้ถูกที่ถูกทางไม่ทุกข์จนเกินจำเป็น จากนั้นก็หันมาโฟกัสกับการเยียวยาบำบัดที่เหมาะสมเพื่อที่จะช่วยให้อาการของเราดีขึ้นเป็นลำดับนะคะ หากไม่สามารถฝึกรับมือและจัดการด้วยตัวเองก็ลองมองหาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในการเยียวยาบำบัดเพื่อให้เราได้ฝึกอย่างถูกต้องเหมาะสมนะคะ
ฝึกสติบำบัดโรควิตกกังวล ด้วยการปั่นจักรยาน
“กลัวจนไม่กล้าออกไปไหนไกล ๆ กลัวว่าออกไปแล้วจะมีอาการ กลัวควบคุมตัวเองไม่ได้” “มีความคิดวกวนอยู่กับโรคว่าทำไม่ไม่ดีขึ้นเลย จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ไหม คิดแล้วก็รู้สึกอยากร้องไห้ แต่ร้องไม่ออก” น้องวิทย์บอกความรู้สึกที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ซึ่งสร้างความกลัวให้ขยายใหญ่มากขึ้นภายในใจ หลังจากที่เราได้พูดคุยกันถึงการรักษาด้วยยาจนน้องสามารถวางใจในการกินยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว จีจึงแนะนำให้น้องลองค่อย ๆ ฝึกสติรู้เท่าทันความคิดและจิตใจตัวเองเพื่อรับมือและจัดการกับความกลัว
จีได้ถ่ายทอดการฝึกเจริญสติในชีวิตประจำวันตามแนวทางของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชโช ให้กับน้องวิทย์ได้นำไปปรับใช้ ซึ่งจีได้เรียนรู้และฝึกฝนด้วยตัวเองจากยูทูบ มันเป็นแนวทางการเยียวยาบำบัดตนเองที่สำคัญที่ช่วยให้จีก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้สำเร็จ และได้ถ่ายทอดแนวทางเหล่านี้ให้เพื่อนผู้ป่วยมากมายได้ลองฝึกเยียวยาตัวเองเพราะมันได้ผลดีมาก น้องวิทย์เริ่มฝึกสติบำบัดโรควิตกกังวลด้วยการปั่นจักรยาน ซึ่งเริ่มต้นจากเล็ก ๆ ออกไปปั่นจักรยานรอบหมู่บ้านก่อนแล้วฝึกสังเกตความคิดอารมณ์ตัวเอง ฝึกมีสติอยู่กับปัจจุบันกับการปั่นจักรยาน
ประโยชน์จากการฝึกสติบำบัดโรควิตกกังวลด้วยการปั่นจักรยานของน้องวิทย์นั้น นอกจากเราจะมีสติรู้เท่าทันรับมือกับความคิดจิตใจและอาการของโรคได้ดีขึ้นแล้ว ยังได้ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย การออกกำลังกายจะช่วยปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยให้ฝึกท้าทายและเผชิญหน้ากับความกลัวและสามารถกลับไปทำกิจกรรมที่ชอบที่ช่วยให้เรารู้สึกดี กล้าออกไปเผชิญหน้ากับผู้คนและโลกภายนอกได้อย่างปกติมากขึ้น หลังจากที่น้องวิทย์ได้ฝึกฝนตนเองเริ่มต้นจากตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในการฝึกสติด้วยการปั่นจักรยานแล้วค่อย ๆ เพิ่มความท้าทายด้วยการปั่นไปในที่ ๆ เคยปั่นไปแล้วมีอาการกังวลหรือแพนิค แล้วเพิ่มเป้าหมายด้วยการค่อย ๆ ปั่นออกไปไกลขึ้นทีละนิด โดยให้เวลากับตัวเองและไม่กดดันตัวเองมากนัก ในที่สุดอาการของน้องก็ดีขึ้นและนำไปสู่การก้าวข้ามผ่านโรควิตกกังวลได้ หากเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจการฝึกสติบำบัดโรคขอแนะนำให้ฝึกเจริญสติในชีวิตประจำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายจะได้ผลดีมากค่ะลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ
มอง “โรค” ในแง่ดี
“ถ้าคิดในแง่ดี การเป็นโรควิตกกังวลนี้ ทำให้ผมได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวมากขึ้น ไปซื้อต้นไม้กับแม่และน้องทุกอาทิตย์ แม่ก็ชอบเพราะบ้านสวย มานั่งดูต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ผมได้คุยกับพี่สาวมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นแทบต่างคนต่างอยู่” น้องวิทย์ บอกกับจีหลังจากที่ได้ฝึกปรับมุมมองทางความคิด ฝึกคิดบวกเพื่อรับมือและท้าทายกับความคิดลบของตัวเอง “โรค” อาจจะสร้างความทุกข์ทรมานกายใจให้กับเรา แต่ถ้าหากเราฝึกมอง “โรค” ในแง่ดี เราจะมองเห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราเจ็บป่วยได้ มันจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้เรียนรู้ที่จะมองสิ่งดี ๆ รอบตัวได้มากขึ้น
วิธีคิดหรือมุมมองทางความคิดของคนเรานั้นสำคัญมาก ในช่วงเวลาที่เราเจ็บป่วยหรือรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังเราจะมองไม่เห็นทางออก เพราะความคิดด้านลบที่เกิดขึ้นจนเรามองไม่เห็นด้านดีในสถานการณ์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งข้อดีของตัวเราเอง จีขอแนะนำให้เพื่อน ๆ ที่ยังคงทุกข์ใจกับโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ลองปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเองดูนะคะ ลอง มอง “โรค” ในแง่ดี แล้วขอบคุณโรคที่ทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อที่จะมีชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้น
ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อเยียวยารักษาใจตัวเอง
หลังจากที่น้องวิทย์มีอาการทรงตัวและมีสติมากขึ้น สามารถกลับมาปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตัวเองชอบแล้ว น้องยังได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อเยียวยารักษาใจ โดยการปลูกต้นไม้และจัดสวน ซึ่งนอกจากจะช่วยเยียวยารักษาใจตัวเองแล้ว ยังช่วยเยียวยาและสานสัมพันธ์กับคนในครอบครัวมากขึ้นอีกด้วย การที่ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้อยู่กับธรรมชาติ และยิ่งได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวหรือผู้อื่นนั้นเป็นแนวทางการเยียวยาที่สร้างความรู้สึกดีกับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก
ผู้ป่วยโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ มักจะไม่มีกะจิตกะใจจะทำกิจกรรมอะไรที่ตัวเองชอบได้เหมือนเดิม หากต้องการหาวิธีในการเยียวยาตัวเองเพื่อช่วยให้อาการเราค่อย ๆ ดีขึ้น ลองค่อย ๆ กลับมาทำกิจกรรมที่เราชอบหรือทำกิจกรรมที่ช่วยเยียวยารักษาใจ โดยเริ่มจากเล็ก ๆ เท่าที่เราพอทำได้ก่อน เช่น วาดรูประบายสี การทำอาหาร การปลูกต้นไม้ เล่นโยคะตามยูทูบ พาตัวเองออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะหรือในที่ธรรมชาติสีเขียว อ่านหนังสือพัฒนาตนเอง เป็นต้น
แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน
“ผมมองโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมากครับพี่จี เข้าใจว่าการมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อยรอบ ๆ ตัวเป็นยังไง โดยที่รู้สึกออกมาจากใจ ไม่น่าเชื่อเลยนะครับแค่เปลี่ยนความคิด ทุกอย่างที่เหมือนเดิมก็เปลี่ยนไป” แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน “ความคิด” ที่ว่านี้หมายถึงมุมมองทางความคิดหรือกรอบความคิด (Mindset) ของคนเราที่มี คนที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด (Fixed Mindset) มักจะเป็นทุกข์ได้ง่ายและมากกว่าคนที่มีกรอบความคิดแบบยืดหยุ่นหรือเติบโต (Growth Mindset) รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคทางใจได้มากกว่าอีกด้วย และกรอบความคิดนี้ก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาได้ เราจะได้มองเห็นคุณค่าและความงดงามที่มีอยู่รอบตัวเราได้มากขึ้น
ผู้ป่วยโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชส่วนใหญ่มักจะมีความคิดที่ผิดเพี้ยนหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งสามารถสร้างความทุกข์ทางใจให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากสารเคมีในสมองขาดสมดุลส่งผลให้การทำงานของสมองเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลง ยิ่งถ้าหากผู้ป่วยมีลักษณะนิสัยทั้งทางความคิดที่มักจะทำให้ตัวเองเป็นทุกข์อยู่แล้วหรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัญหา รวมทั้งบุคลิกภาพของผู้ป่วยเองที่มีอยู่เดิม นั่นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรได้รับการเยียวยาแก้ไขด้วย
หากผู้ป่วยได้รับการเยียวยาบำบัดจิตใจและปรับเปลี่ยน Mindset นอกจากจะช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยได้มีมุมมองในชีวิตใหม่ ได้เข้าใจตัวเอง มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น หลายคนที่จีรู้จักและได้มาเรียนรู้เยียวยาบำบัดกับจีก็ยืนยันได้ว่ารู้สึกว่ามีความสุขและประสบความสำเร็จกับชีวิตได้มากขึ้นเหมือนมีชีวิตและจิตใจใหม่อีกด้วย จีเองก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกันค่ะเหมือนได้เกิดใหม่ในชาตินี้ น้องวิทย์เองก็ได้เข้าใจตัวเองและคนในครอบครัวมากขึ้น การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ได้สร้างอาชีพในฝันของตัวเองและมีความสุขกับคนที่รักถึงแม้จะต้องกินยาอยู่ก็ตาม
ขอขอบคุณน้องวิทย์จากหัวใจที่อนุญาตให้แชร์เรื่องราวประสบการณ์เป็น กรณีศึกษา เยียวยาบำบัดโรควิตกกังวลด้วยตัวเราเอง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อไป และขอแสดงความยินดีกับความสุขและความสำเร็จทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตน้อง หากเพื่อนผู้ป่วยท่านใดสนใจ การเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถแอดไลน์เพิ่มเพื่อนมาคุยกับจีได้นะคะ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : การเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวล (แบบไม่ใช้ยา)