บทความนี้สำหรับผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่กำล้งมองหาการเยียวยาบำบัดทางเลือก เพื่อใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาหรือผู้ที่ไม่ต้องการใช้ยารักษา ซึ่ง โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชอีกโรคหนึ่งที่มีเพื่อน ๆ มากมายทักเข้ามาพูดคุยปรึกษาเพื่อหาแนวทาง การเยียวยาบำบัดทางเลือก (แบบไม่ใช้ยา) จีเองเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วมีโรควิตกกังวลและโรคแพนิกร่วมด้วย ซึ่งจีใช้ยารักษาในช่วงแรก หลังจากที่ตระหนักรู้ว่ายาไม่ได้ตอบโจทย์แล้ว จึงเลือกใช้การเยียวยาบำบัดแบบไม่ใช้ยาจนหายป่วยได้ จีนำกรณีศึกษาสำหรับผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่ต้องการ การเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวล (แบบไม่ใช้ยา) มาฝากให้เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้และเลือกการเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวลที่เหมาะสมกับตัวเองกันค่ะ
ประเภทของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) มีหลายประเภท เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder : GAD) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) โรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias) และโรคแพนิก (Panic Disorder) เป็นต้น
กรณีศึกษาของคุณปอ (นามสมมติ) เป็น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder : GAD) อาการของโรคกังวลทั่วไป จะมีความเครียดหรือมีความวิตกกังวลมากเกินไปเกินจากความเป็นจริงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าจะมีสาเหตุให้รู้สึกกังวลเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่มีสาเหตุที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการกังวลได้ คุณปอมีความกังวลเรื่องการนอนไม่หลับสูงมากจนเห็นได้ชัด เธอมีความกลัวที่เป็นตัวกระตุ้นให้เธอวนอยู่กับความกังวลเรื่องการนอนไม่หลับและไม่อยากใช้ยารักษา
การนอนไม่หลับกับโรควิตกกังวล
คุณปอบอกว่าได้อ่านบทความ การฝังเข็มบำบัดอาการซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล จีเคยเขียนแชร์ไว้ ซึ่งเธอเองก็ได้ใช้วิธีการฝังเข็มเยียวยาบำบัดตัวเองเช่นกัน จึงได้เข้ามาพูดคุยทักทายกับจีทางเพจและต้องการมองหาแนวทางในการลดการใช้ยาและหยุดยารักษาโรควิตกกังวล เธอเล่าว่าก่อนหน้านี้อาการวิตกกังวลของเธอค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากการนอนไม่หลับและมีความรู้สึกกลัวมากเพราะไม่เคยเป็นหนักแบบนี้ เธอเล่าอาการก่อนเข้ารับการรักษาให้ฟังว่าเธอนอนไม่หลับ (ปกติเธอเป็นคนนอนเก่ง หลับดีมาก) ไม่มีสมาธิ เพลีย อาเจียน ใจสั่น แล้วก็วนลูปอยู่กับอาการเหล่านี้ เธอบอกว่าเคยมีครั้งหนึ่งที่เคยมีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันแต่ครั้งนั้นเธอสามารถจัดการกับตัวเองและก้าวข้ามผ่านมาได้ แต่ครั้งนี้เธอไม่สามารถรับมือได้มันทำให้เธอรู้สึกกลัวและวิตกกังวลมากจนทำให้เธอต้องไปพบจิตแพทย์แล้วเข้ารับการรักษาด้วยยามาประมาณเดือนกว่า จากนั้นอาการของเธอเริ่มดีขึ้น เธอจึงหยุดยาบางตัวเองและลดยาเอง แล้วก็ถามคุณหมอว่าลดยาได้ไหมคุณหมอก็บอกว่าได้ แต่หลังจากนั้นเธอกลับนอนไม่หลับและมีความกลัว ความวิตกกังวลสูงมาก แล้วก็พยายามที่จะหลับเองแบบไม่ใช้ยา แต่ก็กลัวและกังวลว่าจะกินยาต่อดีไหมเพราะกลัวว่าถ้านอนไม่หลับอาการของเธอจะแย่เหมือนเดิม จนได้มาพูดคุยกับจีเพื่อมองหาแนวทางการเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวล (แบบไม่ใช้ยา)
ตัดสินใจเลือกการเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวล (แบบไม่ใช้ยา)
จากที่จีได้คุยรายละเอียดเพิ่มเติมกับคุณปอ จริง ๆ แล้วเธอสามารถนอนหลับเองได้ดีขึ้น แต่ความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียดจากเหตุการณ์ที่เธอเคยนอนไม่หลับจนต้องไปพบจิตแพทย์นั้นเป็นตัวกระตุ้นความคิดอัตโนมัติจึงทำให้เธอไม่สามารถวางใจตัวเองได้ ความคิดหนึ่งก็บอกให้ตัวเองกินยาต่อเพราะกลัว อีกความคิดหนึ่งก็อยากหยุดยาเพราะคิดว่าน่าจะมีหนทางการเยียวยาแบบไม่ต้องใช้ยาจะได้หยุดยาได้ ความคิดในหัวจึงยื้อยุดฉุดกระชากกันทำให้เธอรู้สึกสับสนไม่รู้จะตัดสินใจยังไงดีแล้วก็ยิ่งทำให้เพิ่มความเครียด ความกดดันให้ตัวเองมากขึ้นไปอีก พอได้คุยแนวทางในการเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นแนวทางของจีที่ช่วยเยียวยาเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชอื่น ๆ ที่ต้องการลดการใช้ยาและหยุดยาได้แบบไม่เสียเวลารักษาด้วยยายาวนานเกินไป คุณปอจึงตัดสินใจเลือก การเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวล (แบบไม่ใช้ยา)
ความกลัว ความวิตกกังวล และความเชื่อที่ขับเคลื่อนชีวิตอยู่เบื้องหลัง
หลังจากจีได้เริ่มเยียวยาแบบพูดคุยกับคุณปอและเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก รวมทั้งได้ทำความรู้จักกับคุณปอมากขึ้น จีพบว่าเธอมีพื้นอารมณ์ขี้กังวล มีปมปัญหาในวัยเด็ก และปัญหาชีวิตที่ผ่านมาหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปมสำคัญที่กระตุ้นความกลัวและขับเคลื่อนชีวิตของเธออยู่เบื้องหลัง อีกทั้งบุคลิกภาพของเธอนั้นเป็นแบบ ENTJ เธอจะถนัดคิดวิเคราะห์และตัดสินจากข้อมูลหรือความเชื่อที่เธอมี ซึ่งส่งผลให้มุมมองความคิดของเธอส่วนใหญ่เป็นไปในแบบ Fixed Mindset หรือความคิดแบบยึดติดและมีความเชื่อที่แข็งแกร่ง บางครั้งในบางกรณีมีความจริงบางอย่างให้เห็นแต่ยังไม่สามารถหักล้างความเชื่อเดิมของเธอได้ ซึ่งความเชื่อหลายอย่างนั้นขับเคลื่อนชีวิตและจิตใจของเธอให้เป็นไปในทางที่สร้างความกลัวและความวิตกกังวล เธอมีกลไกป้องกันตัวเองที่เคยสร้างมาหรือเรียกว่าเป็นกำแพงใจที่ปิดกั้นความรู้สึกของเธอไว้ส่งผลให้เธอไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองหรือไม่สามารถเชื่อมโยงกับเด็กน้อยภายในตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่สิ่งที่กล่าวมานี้เราสามารถเรียนรู้เพื่อเยียวยาแก้ไขและพัฒนาได้
3 เดือน เปลี่ยนชีวิต ไม่ติดยา
ในคอร์สเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นคอร์สดูแลเยียวยาส่วนตัวของจีในระยะเวลา 3 เดือน ความคาดหวังของคุณปอในการตัดสินใจเลือกการเยียวยาบำบัดโรควิตกกังวล (แบบไม่ใช้ยา) คือ อยากนอนหลับเองได้ โดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับและมีวิตกกังวลน้อยลง คิดบวกให้มากขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยารักษาอีกต่อไป จีแพลนการเยียวยาบำบัดกับคุณปอทั้งแบบพูดคุยและเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก รวมทั้งช่วยให้คุณปอได้ปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิด ความเชื่อและพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตใหม่เพื่อปรับสมดุลทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตสังคม ซึ่งเป็นแนวทางในการเยียวยาแก้ไขต้นตอของปัญหาที่สร้างความเจ็บป่วยและส่งผลให้ชีวิตติดขัด อีกทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้กลับมาป่วยซ้ำได้อีก
หลังจากที่ตัดสินใจที่จะปล่อยมือจากยานอนหลับและยารักษาโรควิตกกังวลด้วยการเยียวยาบำบัดตามแนวทางของจี คุณปอก็ไม่ได้กินยาเหล่านั้นอีกเลยตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจหยุดยาจนถึงปัจจุบัน คุณปอสามารถนอนหลับเองได้และสามารถฝึกออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่องได้สำเร็จ มีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้น สมดุลขึ้น มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น รวมทั้งมี EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีขึ้น สามารถรับมือและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการความเจ็บป่วยทางร่างกายเกี่ยวกับปัญหาเลือดลมก็ลดลงด้วย ปกติเวลาที่คุณปอมีอาการบางอย่างที่รู้สึกว่าตัวเองมีความเจ็บป่วยเล็กน้อยทางร่างกายที่รู้สึกว่าผิดปกติ คุณปอมักจะรีบไปฝังเข็ม กินยาจีนหรือยาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากที่ได้เยียวยากับจี เธอสามารถวางใจตัวเองได้ถูกที่ถูกทางไม่ปล่อยใจให้กังวลกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบจนกลัวหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ เธอเรียนรู้และพัฒนาตนเองที่จะรับมือได้ดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด
ข้อคิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกรณีศึกษา
1.คนที่เป็นโรควิตกกังวลส่วนใหญ่ที่จีพบ มีพื้นอารมณ์เป็นคนขี้กังวลเป็นทุนเดิมเรียกว่ากังวลจนเคยชิน หากต้องการจะเยียวยาแก้ไข นอกจากใช้ยาในการรักษาแล้ว จำเป็นต้องฝึกสติเพื่อตระหนักรู้หรือรู้เท่าทันความคิดที่สร้างความกลัวความกังวลและปรับวิธีคิดหรือความเชื่อที่สร้างความกังวลให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพื่อช่วยลดความกลัว ความกังวลลงได้
2.ความเครียด ความกลัว ความกังวลเกิดจากกลไกการทำงานของสมองและจิตใจของเราเป็นธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ แต่คนส่วนใหญ่ปล่อยให้มีความรู้สึกเหล่านี้มากจนเกินไปและอาจไม่เคยได้เรียนรู้วิธีการรับมือและจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งปล่อยให้มันขับเคลื่อนชีวิตอยู่เบื้องหลังจนเคยชิน ซึ่งบั่นทอนความสุขในชีวิตไปมากจนส่งผลให้กายใจเจ็บป่วยได้
3.คนเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตด้วยการปล่อยให้ “ความกลัว” ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง มากกว่าการเลือกที่จะใช้ “ความสุข” ในการขับเคลื่อนชีวิต หากเราตระหนักรู้ในเรื่องนี้เราจะสามารถมีความสุขกับปัจจุบันได้มากขึ้น มีสุขภาพกายใจและชีวิตที่ดีขึ้นอีกมาก ลองสังเกตตัวเราเองดูนะคะว่าตอนนี้เราปล่อยให้ความกลัวหรือความสุขเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตของเราอยู่?
จีขอชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณปอและขอแสดงความยินดีกับคุณปอที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถหยุดยานอนหลับได้และไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาโรควิตกกังวลอีกต่อไป นอกจากนี้คุณปอยังสามารถดูแลเยียวยาตัวเองได้อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสมดุลร่างกายและจิตใจ รวมทั้งมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม >>> เยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้า (เพื่อลดยาและหยุดยา)
