อารมณ์ของคนเรามีธรรมชาติที่ซัอบซ้อน บางทีก็ยากที่จะเข้าใจ หรือบางครั้งเราก็ยังไม่เข้าใจตัวเองเลย คนที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ หรือคนที่มีความรู้สึกอ่อนไหว มักจะจมอยู่กับอารมณ์ลบ ๆ จนทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ลง ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิต การควบคุมอารมณ์ตัวเองยิ่งเป็นเรื่องที่ยากไปกันใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางอารมณ์ อย่างเราๆ ความวิตกกังวล การโทษตัวเอง ตำหนิตัวเอง ความสิ้นหวัง ความรู้สึกเหล่านี้ได้พบในงานวิจัยแล้วว่า ล้วนเป็นเหตุที่นำบุคคลไปสู่ความอ่อนแอทางอารมณ์ทั้งสิ้น จีนำข้อมูลเกี่ยวกับ จิตวิยาการควบคุมความอ่อนแอทางอารมณ์ มาฝากเพื่อฝึกรับมือและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองกันค่ะ
เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตหรือสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ระบบประสาทอัตโนมัติของเราจะถูกกระตุ้น สมองของเรามันจะเข้าสู่สภาวะสู้หรือหนี เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ปฏิกิริยาแบบนี้มันเป็นธรรมดาธรรมชาติของคนเราเมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะรู้สึกเครียด กลัว วิตกกังวล ซึ่งเราควรหาวิธีรับมือและจัดการกับมันอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางด้านจิตใจหรือโรคจิตเวชด้วย
ทางจิตวิทยาได้แนะนำทักษะ “พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี ” (DBT) หรือเรียกง่ายๆว่า เทคนิค “ABC PLEASE” ซึ่งจะช่วยสร้างความหวังและการกระทำที่ดี ที่จะช่วยให้เราสามารถควบคุมความอ่อนแอทางอารมณ์ หรือเป็นนายของเหตุที่ทำให้อ่อนแอได้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการทำจิตบำบัด
เทคนิค “ABC PLEASE”
Accumulate – การสะสมอารมณ์เชิงบวก อารมณ์เป็นผลมาจากความคิด ดังนั้นการที่เราจะมีอารมณ์ในเชิงบวกได้นั้น เราก็ต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกมองโลกในแง่บวกและฝึกคิดบวกให้เป็นด้วย
Build – ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ สร้างเหตุการณ์ดี ๆ ในชีวิตเพื่อให้เรารู้สึกดี เราจะได้รับมือกับความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังได้ดีขึ้น
Cope – ฝึกรับมือกับสถานการณ์ที่สร้างอารมณ์อย่างแยบคาย โดยไม่ตัดสินถูกผิด โดยฝึกใช้เทคนิคผ่อนคลาย และซ้อมทำเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว
Physical – มีสุขภาพกายที่ดี โดยตรวจสุขภาพกับแพทย์และดูแลร่างกายให้สมดุล
Low – สำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ปัญหาด้านสุขภาพหรือปัญหาในการใช้ชีวิต ให้ฝึกรับมือและจัดการปัญหากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ
Eating – รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ
Avoiding – หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดหรือสารที่เปลี่ยนสภาพจิต
Sleep – นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง
Exercise – ออกกำลังกายและทำกิจกรรมบริหารกายใจอย่างสม่ำเสมอ เช่น ฟังเพลง เดิน อ่านหนังสือ เป็นต้น เพื่อแปรความอ่อนล้าที่เกิดขึ้น ให้ร่างกายปล่อยสารโดพามีนผ่านกิจกรรมที่ดี แทนที่จะมีพฤติกรรมที่ไม่ดี
พฤติกรรมบำบัดแนะนำให้ทำตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่ไม่ดี เพราะว่าอารมณ์จะเปลี่ยนไป ถ้าหยุดการเสริมแรงโดยทำสิ่งดี ๆ ศ.ดร.มาชา ไลน์แฮน ผู้คิดค้น DBT แนะนำให้ฝึกเทคนิคผ่อนคลายแบบย่อย ๆ เพราะว่าการตอบสนองที่แสดงออกให้เห็นจุดชนวนโดยอารมณ์ได้เร็วกว่าความคิด
จีเคยเป็นคนที่เซนซิทีฟหรือมีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย เรียกว่า มีความอ่อนแอทางอารมณ์มาก โดยเฉพาะช่วงที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จีฝึกบำบัดตัวเองตามแนวทางนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอารมณ์ตัวเองใหม่ ซึ่งมันช่วยให้จีสามารถรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวนและอ่อนไหวง่าย ซึ่งเกิดจากอาการของโรคซึมเศร้า รวมทั้งบุคลิกภาพของตัวเองและมันช่วยให้อาการของจีดีขึ้น
หากใครที่รู้สึกว่าตัวเองมีความอ่อนแอทางอารมณ์ ก็ลองนำหลัก จิตวิทยาการควบคุมความอ่อนแอทางอารมณ์ นี้ ไปฝึกปรับใช้กันดูนะคะ แต่ถ้าหากพยายามด้วยตัวเองแล้วเรายังไม่สามารถรับมือและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองที่ต้องเผชิญอยู่ได้ เราควรจะปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญดีกว่านะคะ
ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี
Photo by Engin Akyurt from Pexels
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>>