คนเราจะเศร้าได้นานสักเท่าไหร่? เป็นประโยคคำถามที่ทำให้จีได้ฉุกคิดเมื่อได้ค้นพบข้อมูลเกี่ยวกับลำดับขั้นของความเศร้า The 5 stages of grief & loss จากเฟสบุ๊กเพจ Psychologist Cafe’ มันทำให้จีได้เข้าใจความเศร้าของตัวเอง และรู้เท่าทันใจตนเมื่อต้องเผชิญกับ “ความเศร้า” ไม่ว่าจะเป็นความเศร้าที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือจะเป็นความเศร้าธรรมดาที่ต้องเผชิญเมื่อต้องพบกับความสูญเสีย ผิดหวังหรือเสียใจในสถานการณ์ของชีวิตที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มันช่วยให้จีสามารถรับมือกับความเศร้าได้ดีขึ้นและมองเห็นแนวทางในการก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าของตัวเองอีกด้วย
ในช่วงชีวิตของคนเราทุกคนล้วนต้องเผชิญกับ “ความเศร้า” เพราะมันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาของคนเราเมื่อต้องพบกับความผิดหวัง การสูญเสีย ความเจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งการคิดถึงความตาย ความเศร้าเป็นการตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางอารมณ์ความรู้สึกของคนเรา แต่เรามักจะไม่ค่อยเข้าใจ “ความรู้สึกเศร้า” ของตัวเองและมักจะปฏิเสธหรือผลักไสมันอยากหายเศร้าเร็ว ๆ และอยากกลับไปมีความสุขมากกว่า
แต่ในทางกลับกันหากเราต้องเผชิญกับความเศร้าแล้วเราได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับความเศร้ามันจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้เราสามารถที่จะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้ด้วยดี
The 5 stages of grief & loss มีที่มาจากหนังสือเรื่อง “On Death and Dying” ของ Elisabeth Kubler-Ross ซึ่งเป็นจิตแพทย์ ผู้ศึกษาเรื่องภาวะเข้าใกล้ความตาย จากการที่เธอได้ศึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยใกล้ตาย ซึ่งเธอได้สังเกตจากผู้ป่วยและญาตินำมาสู่การพัฒนารูปแบบในการอธิบายการเกิดภาวะเศร้าโศก 5 ลำดับขั้น โดยแรกเริ่มนั้นมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่มีทางรักษาและเผชิญหน้ากับความตาย ต่อมา Kubler-Ross Model นี้ได้ถูกนำไปใช้ในการอธิบายผู้ที่สูญเสียของรัก หรือเผชิญกับความผิดหวังร้ายแรงในช่วงอารมณ์ที่เปราะบางของชีวิต เช่น การตกงาน การสูญเสียเสรีภาพ เป็นต้น
ขอบคุณภาพประกอบ จาก Wikipedia By U3173699 – Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=81674970
ลำดับขั้นของความเศร้า The 5 stages of grief & loss
1. ช่วงปฏิเสธและหลีกหนีความจริง (Denial )
เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ทำให้เรารู้สึกสูญเสีย ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เราจะรู้สึกช็อค ไม่ยอมรับความจริง ปฏิเสธว่าไม่จริง คนที่อยู่ในภาวะนี้จะพูดประมาณว่า “ไม่จริง” “เรื่องนี้เป็นเรื่องโกหก” หรือ “เป็นแค่ข่าวลวง” เป็นต้น
2. ช่วงขุ่นเคือง (Anger)
ผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสียจะรู้สึกโกรธ รู้สึกไม่เป็นธรรมและอาจโกรธและโทษคนอื่นได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาไม่ได้มีความผิดอะไร โทษได้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หมอ ครอบครัว ไม่เว้นแม้แต่ฟ้าดินหรือพระเจ้า ส่วนมากญาติคนไข้เวลาผิดหวังกับผลการรักษาก็เพราะยังติดอยู่ในขั้นนี้เป็นส่วนใหญ่
![]() |
|
3. ช่วงซึมเศร้า (Depression)
เมื่อพบความจริงว่าเรานั้นย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเศร้าโศกเสียใจ คนที่อยู่ในขั้นนี้จะมีอาการซึมเศร้า รู้สึกหดหู่หมดแรง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีความรู้สึกอยากตาย ความเศร้าและความว่างเปล่าจะแทรกซึมอยู่ในอณูของความคิด
อย่างไรก็ตามระยะเศร้านี้ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นเป็นโรคซึมเศร้า แต่เป็นเพียงอาการเศร้าเพราะจิตใจตอบสนองต่อการสูญเสียและเป็นกระบวนการปกติที่จะเกิดขึ้นในการเยียวยารักษาจิตใจ
แต่ถ้าหากคนนั้นไม่สามารถหลุดออกจากช่วงนี้เป็นเวลานานกว่าคนปกติทั่วไปแสดงว่ากระบวนการทางจิตใจเริ่มมีปัญหา หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป ก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชได้
4. ช่วงคิดต่อรอง (Bargaining)
ช่วงนี้จะเป็นการต่อรองกับตัวเอง โดยมักเป็นการต่อรองกับตัวเองในอดีต ในการต่อรองนั้นจะมีลักษณะว่าในอดีตตนเองนั้นทำผิดไป อยากย้อนกลับไปแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองในอดีต เช่น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้…จะไปทำสิ่งนี้ หรือ ถ้าตอนนั้นได้ทำแบบนี้…วันนี้ก็คงไม่เป็นแบบนี้ เป็นต้น
5. ช่วงรับความจริงและเข้าใจได้ (Acceptance)
ช่วงนี้เราสามารถยอมรับความจริงพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมันไม่ได้หมายความว่าเรา “โอเค” กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หมายความว่าเราสามารถยอมรับสิ่งร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นได้แล้ว
อย่างไรก็ตามลำดับขั้นของความเศร้าที่กล่าวมาเป็นภาพรวมของการมีความเศร้าและการสูญเสีย ซึ่งจะเกิดขึ้นในแต่ละคนแตกต่างกันไปและอาจไม่เกิดเรียงตามลำดับขั้นดังกล่าวก็เป็นได้ เพราะแต่ละคนมีสภาพจิตใจและประสบการณ์ชีวิตที่ตกต่างกัน
สิ่งที่จีได้เรียนรู้จากลำดับขั้นของความเศร้า The 5 stages of grief & loss นี้ ทำให้จีเข้าใจได้ว่าในช่วงเวลาที่ตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและยังวนอยู่กับช่วงซึมเศร้านั้นเป็นเพราะเรายังไม่ทำความเข้าใจและยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสูญเสีย ผิดหวังในทุกด้านของชีวิตที่ได้รับผลกระทบ
![]() |
|
แต่หลังจากที่จีใช้เวลาในการเยียวยารักษาใจตนเอง ทำความเข้าใจและยอมรับมันก็ช่วยให้ความเศร้าหมองนั้นจางลงและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ดีขึ้น หลังจากนั้นที่จีต้องเผชิญกับการสูญเสียผู้ที่เคารพรักไปมันก็ช่วยให้จีเข้าใจและรับมือกับลำดับขั้นของความเศร้าได้ดีขึ้นและไม่กลับไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำอีก
จีหวังว่าข้อมูลลำดับขั้นของความเศร้า The 5 stages of grief & loss นี้ จะสามารถช่วยให้เพื่อน ๆ ได้ตระหนักรู้หรือรู้เท่าทันใจตนเมื่อต้องเผชิญกับ “ความเศร้า” เพื่อทำความเข้าใจกับความเศร้าโศกเสียใจกับสิ่งที่เราต้องเผชิญ รวมทั้งสามารถหาวิธีรับมือและจัดการกับมันเพื่อให้เราสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ นอกจากนี้มันยังช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นที่กำลังเผชิญกับความเศร้าได้เช่นกัน
ที่มา : Psychologist Cafe’
Cr.Photos by Pixabay.com
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>> โรคซึมเศร้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องรับมือ
หากเพื่อน ๆ ต้องการเรียนรู้การเยียวยาบัดโรคซึมเศร้าหรือเยียวยาบำบัดจิตใจเพิ่มเติมสามารถเพิ่มเพื่อนในไลน์ทักแชทมาพูดคุยกันได้นะคะ

![]() |
|
[…] […]
[…] […]
[…] ลำดับขั้นความโศกเศร้าภายในใจตนเอง “ความรู้สึกอยากหายป่วย […]
[…] ซึ่งทางจิตวิทยาได้อธิบายถึง 5 ลำดับขั้นความโศกเศร้าไว้ (ตามรูปด้านบน) […]
[…] 5 ลำดับขั้นความโศกเศร้าไว้ (ตามรูปด้านบน) […]