คุณเป็นคนที่มี “บุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์” (Perfectionist) หรือเปล่า? หลายคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีบุคลิกภาพแบบนี้จนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ที่พบบ่อยคือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่จีได้เคยพูดคุยและช่วยเยียวยาบำบัด หลายคนมีบุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist)แบบไม่รู้ตัวหรือบางคนอาจจะรู้ตัว แต่ยังไม่ได้รับการเยียวยาบำบัดจึงส่งผลให้เขาเหล่านั้นไม่มีความสุขกับชีวิตและมันเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นอาการของโรค จีเองก็มีบุคลิกภาพแบบนี้เช่นกัน ซึ่งหลังจากจีได้เรียนรู้ที่จะเยียวยาและพัฒนาตัวเองมันก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้จีสามารถหายป่วยจากโรคซึมเศร้าและเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ที่มีความสุขในแบบของตัวเองได้ ลองมาดูกันว่า บุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) มีผลต่อสุขภาพจิตของเรายังไงนะคะ

เพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) คืออะไร?

บุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) เป็นบุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัยแบบหนึ่งของผู้ที่ชอบความสมบูรณ์แบบ  ชอบตั้งมาตรฐานของการกระทำและผลลัพธ์ที่มักจะสูงมากจนอาจเกินความเป็นจริง มีความปรารถนาที่จะให้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตออกมาในแบบสมบูรณ์แบบที่สุด ไร้ที่ติหรือไร้ข้อบกพร่อง คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักจะมีความคาดหวังที่สูงเกินไปหรือมีมาตรฐานในตัวเองสูงและมักจะประเมินตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง ชอบวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิตัวเองมากเกินไปอีกด้วย

จีชอบการเปรียบเทียบของ โทมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) นักจิตวิทยาสังคมและบุคลิกภาพ อาจารย์จาก University of Bath ประเทศอังกฤษ ที่ได้เปรียบเทียบคนที่มีบุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) ไว้ว่า คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักจะพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายความสมบูรณ์แบบของตัวเอง เหมือนการพยายามที่จะปีนไปให้ถึงยอดเขา เพื่อพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขามีความสามารถมากพอและคู่ควรกับการยืนอยู่บนยอดเขานั้น แต่เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ พอคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้อยู่บนจุดสูงสุดของยอดเขาลูกนั้นแล้ว พวกเขาก็อดไม่ได้ที่จะมองหาภูเขาลูกอื่นเพื่อเริ่มต้นที่จะปีนมันใหม่อีกครั้ง

ซึ่งโทมัส เคอร์แรน (Thomas Curran)  ยังได้เปรียบเทียบไว้อีกว่ามันเหมือนชะตากรรมที่อยู่ในตำนาน “ซิซีฟัส” (Sysyphus)  ซึ่งซิซีฟัสถูกเทพเจ้าลงโทษให้เข็นหินก้อนใหญ่ขึ้นบนยอดเขาเพียงเพื่อจะเห็นมันกลิ้งตกลงมาอยู่อย่างนั้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมันสามารถสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า “การเอาชนะตนเอง (Self-Defeat) เพื่อแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง” แล้วมันก็ยังเป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพจิตที่ตามมาอีกด้วย ใครเป็นแบบนี้บ้างคะ จีเองเคยเป็นคนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้แล้วก็พบว่าการใช้ชีวิตของตัวเองนั้นทำไมช่างยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยกว่าคนอื่นเสมอจนส่งผลให้จีป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และที่สำคัญในตอนที่ป่วยนั้นสาหัสสากรรจ์มาก ๆ กับการต่อสู้กับบุคลิกภาพแบบนี้ของตัวเอง

ประเภทของบุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist)

พอล ฮิววิตต์ (Paul Hewitt) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (UBC) ประเทศแคนาดา และกอร์ดอน เฟลตต์ (Gordon Flett) ศาสตราจารย์ในคณะสุขภาพที่มหาวิทยาลัยยอร์ก ประเทศแคนาดา ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และแบ่งบุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist)ไว้   3 ประเภท คือ

1. ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบที่กำหนดโดยตัวเอง (Self-oriented Perfectionists) ผู้คนกลุ่มนี้มักจะเรียกร้องให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายหรือความสำเร็จ หลีกเลี่ยงความล้มเหลวและใช้มาตรวัดในการประเมินตัวเองอย่างเข้มงวด

2. ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบที่กำหนดโดยสังคม (Socially-prescribed Perfectionists) กลุ่มนี้มักจะมีความเชื่อที่เข้มข้นว่าสังคมและคนรอบข้างคาดหวังและเรียกร้องให้พวกเขาบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ

3. ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบต่อคนอื่น ๆ (Other-oriented Perfectionists) คนกลุ่มนี้มักจะคาดหวังว่าบุคคลสำคัญในชีวิต อย่างเช่น พ่อ แม่หรือคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ให้ทำตามสิ่งที่ตนคาดหวังไว้อย่างสมบูรณ์แบบ

บุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์ กับสุขภาพจิตที่ต้องดูแล

จากผลการสำรวจและการศึกษากลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีในอเมริกา แคนาดาและอังกฤษมากกว่า 40,000  คน ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบเพิ่มขึ้น และพบว่าในปี 1989-2016  สัดส่วนของผู้ที่มีความนิยมความสมบูรณ์แบบนั้นเพิ่มขึ้นถึง  32%  และจากข้อมูลตั้งแต่ปี  1989  ได้เผยให้เห็นสถิติที่น่าสนใจอีกว่า กลุ่มผู้นิยมความสมบูรณ์แบบที่ถูกกำหนดโดยสังคม (Socially-prescribed Perfectionists)  จากที่เคยพบในวัยรุ่นเพียง 9%  ในปี  1989 กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อสำรวจในปี 2017 แนวโน้มในลักษณะนี้ทำให้นักวิจัยคาดการณ์กันต่อไปว่า ภายในปี 2050  จะมีวัยรุ่นถึงเกือบ 1   ใน 3 คน เข้าข่ายเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ประเภทนี้

นอกจากนี้ยังพบว่าการศึกษาของ โทมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) และคณะ ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบที่กำหนดโดยตนเอง (Self-oriented Perfectionists)  มีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าทางคลินิก ความผิดปกติของการกิน และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของนักศึกษาและเยาชน รวมทั้งได้อธิบายถึงอันตรายของการเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตตามมา ได้แก่ โรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อการเป็นไบโพลาร์ และอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายก่อให้เกิดโรคทางกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจจะกลายเป็นกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

ซึ่งจีเองมี บุคลิกภาพแบบเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) และมีนิสัยสุดโต่ง เข้าข่ายในแบบแรกชัดเจน และมีในแบบที่ 2 และ 3 สนับสนุนอีกด้วย แล้วบุคลิกภาพนี้เองที่ส่งผลให้จีเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรง สร้างความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสและเคยฆ่าตัวตายมาแล้วด้วย จีได้ตระหนักรู้ถึงเรื่องบุคลิกภาพของตัวเองว่ามันเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญต่อการเกิดโรคที่เป็นอยู่และได้ปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองจนสามารถทำให้อาการโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลและโรคแพนิกลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังช่วยให้ชีวิตจีหลังจากหายป่วยแล้วมีความสุขมากกว่าเดิมขึ้นมากอีกด้วยค่ะ

สำหรับใครที่มีบุคลิกภาพเพอร์เฟกชันนิสต์แล้วกำลังเผชิญอยู่กับการไม่มีความสุขกับชีวิตหรือส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลหรือไบโพลาร์ เป็นต้น ขอให้คุณตระหนักรู้ในเรื่องนี้เพราะข้อมูลข้างต้นที่ได้อ่านมานั้นแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า บุคลิกภาพแบบนี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของเราอีกด้วย

เมื่อตระหนักรู้แล้วว่าเรามี บุคลิกภาพแบบเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) ก็สามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นได้ คนที่ป่วยเป็นโรคที่กล่าวมาก็จะสามารถลดปัจจัยที่กระตุ้นอาการของตัวเองลง อาการของโรคก็จะได้ดีขึ้นและหายได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ

อ้างอิงข้อมูล : medicalnewstoday.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : INFJ บุคลิกภาพที่หายากที่สุดในโลก

แชทพูดคุยปัญหาสุขภาพจิต การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก รวมทั้งการเยียวยารักษาใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อปรับบุคลิกภาพแอดไลน์เพิ่มเพื่อนได้เลยค่ะ

เพิ่มเพื่อน

3 COMMENTS

  1. […] คนที่มีนิสัยเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) ในด้านดีมีมากมาย มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ชอบพัฒนาตนเอง ทำงานเป็นระบบระเบียบและมันช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าหากเสพติดความเพอร์เฟกชันนิสต์มากเกินไปหรือสุดโต่ง ขาดความยืดหยุ่น   มันก็ยากที่คนที่มีนิสัยแบบนี้จะมีความสุขได้ง่าย  เพราะจุดอ่อนมักจะเป็นคนเครียดกังวลง่าย รู้สึกไม่ดีพอ มองหาแต่ข้อผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่น […]

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here