โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า” เป็นโรคทางอารมณ์หรือเป็นความเจ็บป่วยทางใจที่สามารถส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของเราได้เป็นอย่างมาก ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือมันส่งผลกระทบต่อการกิน อยู่ หลับนอนของเรา เมื่อเราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วมันจะทำให้เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมายในทิศทางที่แย่ลง ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความคิดและจิตใจ รวมไปถึงทางด้านร่างกายและสามารถส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการงาน การเงิน รวมทั้งความรักความสัมพันธ์  จีนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและประสบการณ์ของตัวเองมาแชร์เพื่อที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ ได้ทำความเข้าใจในโรคซึมเศร้ากับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ต้องรับมือ เพื่อที่จะฝึกรู้เท่าทันและหาวิธีรับมือกับมันได้อย่างเหมาะสมค่ะ

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องรับมือ

1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ซึ่งแต่ละคนก็แตกต่างกันไป แต่อารมณ์ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ มีความรู้สึกอ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย มักจะรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็จะรู้สึกอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะรู้สึกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนเดิม รู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกอย่าง สิ่งที่เคยทำแล้วสบายใจมีความสุขก็ไม่รู้สึกอยากทำหรือทำแล้วก็รู้สึกไม่มีความสุขเหมือนเดิม บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ก้าวร้าว โกรธง่าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน

ซึ่งจีก็มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังที่กล่าวมานี้เช่นกัน ในตอนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมีอาการรุนแรงเหมือนต้องเผชิญกับพายุอารมณ์ในโลก(โรค)ซึมเศร้า จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดเป็นอย่างมากกว่าจะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ก็เรียกว่าชีวิตและจิตใจพังมากเพราะในตอนนั้นยังไม่เข้าใจและไม่คาดคิดว่าโรคซึมเศร้าที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้มากขนาดนั้น

2. ความคิดเปลี่ยนไป

ความคิดส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นไปในด้านลบ มีมุมมองทางความคิดที่ยึดติดอยู่กับอดีต มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตเห็นแต่ความผิดพลาด ความล้มเหลวของตนเอง มองไม่เห็นทางออก มองอนาคตว่างเปล่า รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเองไปเลย รู้สึกลังเลสับสน ไม่กล้าตัดสินใจ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ เป็นภาระของคนอื่น มีความคับข้องใจ ทรมานจิตใจจนทำให้ผู้ป่วยคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อย ๆ แล้วผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มักจะวนลูปอยู่กับความคิดลบ ๆ เหล่านั้นสร้างความทุกข์ทรมานใจเป็นอย่างมาก ซึ่งมันเรียกว่า “ลูปของโรคซึมเศร้า”

3. สมาธิและความจำแย่ลง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีสมาธิและความจำที่แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด มักจะหลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิจดจ่อในการทำงานหรือทำสิ่งใดได้นาน ๆ เหมือนคนปกติ จิตใจเหม่อลอย เหมือนใช้ชีวิตแบบเบลอ ๆ ส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงาน สร้างความรำคาญและทุกข์ใจให้กับผู้ป่วยได้มากเลยทีเดียว

4. มีอาการทางร่างกายร่วมด้วย

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไร้เรี่ยวแรง ซึ่งมักพบร่วมกับอารมณ์เบื่อหน่ายไม่อยากจะทำอะไร ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นมองว่าเป็นคนขี้เกียจ และมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรืออาจจะนอนมากเกินไป รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก บางคนลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ยังอาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น

5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป

อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย ซึมเศร้า หดหู่ ไม่อยากทำอะไร ไม่ร่าเริง แจ่มใสเหมือนก่อนและมักจะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร ซึ่งทำให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนมีอารมณ์ที่หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ก้าวร้าวจึงส่งผลให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์

6. การงานแย่ลง

สมาธิของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ลดลง ไม่สามารถโฟกัสกับงานหรือสิ่งที่ทำได้นาน จึงส่งผลต่อความรับผิดชอบในการทำงาน ในช่วงแรกผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจฝืนใจตัวเองให้ทำได้ แต่ถ้าหากอาการมากขึ้นก็จะรู้สึกหมดพลัง เริ่มลางานหรือขาดงานบ่อย ๆ ซึ่งถ้าหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน

7. อาการโรคจิต

อาการของโรคจิตอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอน ที่พบบ่อยอาจมีอาการหูแว่ว มีเสียงคนมาพูดคุยด้วย หรือเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง ประสงค์ร้ายต่อตนเอง อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษาอาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดังที่กล่าวมานี้ อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือน ๆ หรือเกิดขึ้นได้เร็วภายใน 1-2 สัปดาห์เลยก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด บุคลิกเดิมของผู้ป่วยเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด เป็นต้น และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจไม่มีอาการตามนี้ไปทั้งหมด แต่อย่างน้อย อาการหลัก ๆ จะมีคล้าย ๆ กัน เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตัวเองไร้ค่า นอนหลับไม่ดี เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดควรตระหนักรู้ เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถที่จะเข้าใจกับสิ่งที่เราต้องเผชิญ เพื่อหาวิธีรับมือและจัดการกับมันได้ดีขึ้นค่ะ

ที่มา : โรคซึมเศร้าโดยละเอียด RamaMental

Cr. Photos by Pixabay.com

อ่านบทความเพิ่มเติม>>> 5 สาเหตุ ที่ทำให้การรักษาโรคซึมเศร้าไม่ได้ผลดี

4 COMMENTS

  1. […] โรคซึมเศร้า ทำให้เรารู้สึกทุกข์ใจที่ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิมหรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ อาการของโรคซึมเศร้า ที่เกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล ส่งผลต่อการทำงานของสมองก็เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง และสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ ให้กับผู้ป่วยได้อย่างมากมาย จนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองไม่อาจสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทัน ไม่ว่าจะเป็น ความคิดที่แปรเปลี่ยนไปในด้านลบ มองโลกในแง่ร้าย ขาดความมั่นใจในตัวเอง สมาธิลดลง ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำตรงหน้าได้ตามปกติ […]

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here