คุณกำลังติดกับความคิดที่วนลูปอยู่หรือเปล่า? ความคิดด้านลบที่ผุดขึ้นมาวนเวียนซ้ำ ๆ มันสามารถบั่นทอนจิตใจทำให้เรามีอารมณ์ความรู้สึกเป็นไปในด้านลบ หรืออาจเลยกลายไปเป็นการกระทำด้านลบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นได้อีกด้วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักจะมีความคิดเป็นไปทางด้านลบ ทั้งต่อตัวเองและสถานการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากสารสื่อประสาทในสมองที่ไม่สมดุล จึงส่งผลให้การทำงานของสมองเสียสมดุลไปด้วย ทำให้ความคิด ความจำ การตัดสินใจและสมาธิแย่ลงไปเป็นอย่างมาก จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับมือและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้เหมือนคนปกติทั่วไป และส่งผลให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นไปในด้านลบแล้วมันก็จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ วนเวียนอยู่อย่างนั้น ซึ่งเรียกว่า การวนลูปของโรคซึมเศร้า
ลูปของโรคซึมเศร้า (The Depression Loop)
จากภาพแสดงให้เห็น ลูปของโรคซึมเศร้า (The Depression Loop) และการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าหาก ความคิด (Thoughts) ที่เกิดขึ้นเป็นด้านลบ มันก็จะส่งผลต่ออารมณ์(Emotions)ความรู้สึก (Sensation) และพฤติกรรม(Behaviors) ที่เป็นลบเช่นกัน แล้วมันก็จะวนไปที่ความคิดลบอีก ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะไม่สามารถรับมือกับความคิดลบที่เกิดขึ้นได้เหมือนคนปกติทั่วไป เพราะอาการป่วยแต่มักไม่ค่อยรู้ตัวหรือตระหนักรู้ได้ในตอนนั้น
จีคิดว่าถ้าหากเพื่อน ๆ ลองทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าและความคิดของตัวเองให้มากขึ้น สังเกตอาการและความรู้สึกนึกคิดของตัวเองที่เกิดขึ้น และลองทำความเข้าใจกับลูปของโรคซึมเศร้า มันจะช่วยให้เราตระหนักรู้และรู้เท่าทันความคิดและจิตใจตัวเองมากขึ้น เราจะสามารถรับมือและจัดการกับมันได้ดีขึ้น ส่งผลให้อาการเราดีขึ้นด้วย
วิธีรับมือกับการวนลูปของโรคซึมเศร้า
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ มักจะมี ความคิดลบที่เกิดขึ้นอัตโนมัติ วิธีรับมือ คือเราต้องฝึกมีสติรู้เท่าทันความคิดลบอัตโนมัติของตัวเอง ปกติหากเราไม่เคยฝึกจิตใจเราให้มีสติรู้เท่าทันความคิด เมื่อความคิดเกิดมันก็จะต่อไปเป็นอารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเราเริ่มฝึกมีสติรู้เท่าทันความคิดเราจะตระหนักรู้เมื่อความคิดเกิด เราสามารถที่จะฝึกดูความคิดของตัวเอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปได้ โดยที่มันไม่ต่อไปเป็นอารมณ์ ความรู้สึก หรือการกระทำในแบบที่เราไม่ต้องการอีก และเราสามารถที่จะเปลี่ยนความคิดของตัวเองให้เป็นไปในด้านบวกตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจำเป็นต้องเปิดใจเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้เวลาในการฝึกฝน
วิธีที่จะช่วยให้เราสามารถฝึกมีสติรู้เท่าทันความคิดด้านลบของตัวเราเองได้นั้น คือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT) ซึ่งสามารถเข้ารับการบำบัดนี้ได้กับนักจิตวิทยา จีเองก็ได้รับการบำบัดนี้ในตอนที่กลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำอีกครั้ง เมื่อจีได้เรียนรู้ถึงหลักจิตวิทยาและหลักธรรมของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นกระบวนการที่คล้ายกัน แต่ธรรมะของพระพุทธองค์ลึกซึ้งกว่า จีจึงฝึกเจริญสติด้วยการดูยูทูปของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชโช แล้วสามารถที่จะพัฒนายกระดับจิตใจตัวเองให้ออกจากกองทุกข์และลูปของโรคซึมเศร้านั้นได้
นอกจากนี้จียังฝึกปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดและพฤติกรรมของตัวเองใหม่ เพราะความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจเรา ซึ่งมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งส่งผลกระทบกับทุกด้านของชีวิตด้วย (โรคซึมเศร้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องรับมือ)
แล้วจียังฝึกสมาธิและสติอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง ซึ่งมันเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้จีก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าและสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตช่วงนั้นมาได้ แต่ทั้งนี้เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติและต้องมีสติมากพอ จีฝึกอย่างจริงจังหลังจากที่อาการทรงตัวและมีสติมากขึ้นแล้ว
แต่จีมีปัญหาทางด้านจิตใจ มีปมในใจในวัยเด็กและเจ็บป่วยมายาวนาน จนส่งผลให้เกิด ปมขัดแย้งภายในจิตใต้สำนึก และมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาป่วยซ้ำ เพราะป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จีได้ค้นพบ การเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก ซึ่งการบำบัดนี้ช่วยให้จีหลุดจากลูปความทุกข์ทางใจในโรคซึมเศร้า ที่มีมายาวนานเรียกได้ว่าเกือบตลอดชีวิตที่ผ่านมา มันช่วยปลดล็อกชีวิตและจิตใจ รวมทั้งยังช่วยให้จีสามารถเยียวยารักษาใจตัวเองแล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีพลังและมีความสุขมากกว่าก่อนป่วยอีก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการบำบัดที่มหัศจรรย์ใจจีมาก ๆ
หากใครที่ยังจมอยู่กับความคิดที่วนลูปของโรคซึมเศร้าหรือยังไม่สามารถรับมือกับความคิดและจิตใจตัวเองได้ ลองฝึกสติเพื่อช่วยให้เรารู้เท่าทันความคิดและจิตใจตัวเองดู หากไม่สามารถทำเองได้ จีขอแนะนำให้เข้ารับการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญก่อน เราจะได้ไปต่อได้ง่ายขึ้นและสามารถพาตัวเองก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าไปได้ค่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>> “สติบำบัด” ทางเลือกใหม่รักษาโรคซึมเศร้า
เครดิตภาพ : หนังสือ Uncovering Happiness, Pixabay.com, Pexels.com

[…] โรคซึมเศร้ากับความคิดที่วนลูป […]
[…] สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคืออาการของโรคซึมเศร้า เนื่องจากอาการของโรคทำให้การทำงานของสารสื่อประสาทในสมองเปลี่ยนแปลงไปผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีความคิดลบ ๆ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ วนเวียนอยู่อย่างนั้น เรียกว่า ลูปของโรคซึมเศร้า เพราะเกิดจากตัวโรคที่ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะรับมือหรือจัดการกับความคิดได้เหมือนคนปกติทั่วไป ยิ่งปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาหรือบำบัดอย่างถูกต้อง ยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกกดดันอย่างรุนแรงหรือมีอะไรมากระตุ้นให้อาการรุนแรงก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดันจนรู้สึกว่าทนรับสภาพแบบนั้นต่อไปไม่ไหวแล้ว […]
[…] เพราะเรามักจะวนลูปของโรคซึมเศร้า จนหาทางออกไม่เจอ […]
[…] เพราะเรามักจะวนลูปของโรคซึมเศร้า จนหาทางออกไม่เจอ […]
[…] ๆ และยาวนานขึ้น เรียกว่า ลูปของโรคซึมเศร้า (Depression Loop) […]
[…] ลูปของโรคซึมเศร้า อาการมันเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปรับยา […]