คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังโดนความทรงจำรบกวนจิตใจอยู่หรือเปล่า? บ่อยครั้งที่เราอยากจะลืมใครบางคนหรืออยากลืมเรื่องราวบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกเศร้า ผิดหวัง เสียใจ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งเราพยายามที่จะลืมมันก็ยิ่งทำให้เรานึกถึงคน ๆ นั้นหรือเหตุการณ์เหล่านั้นมากขึ้นไปอีก เหมือนยิ่งอยากลืมมันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกลับจำได้มากขึ้นเท่านั้น จีเองก็เคยติดกับดักการอยากลืมแต่กลับจำนี้และมีเพื่อน ๆ ที่เข้ามาพูดคุยทางเพจแล้วมักจะถามว่าเวลาที่เราอยากลืมแต่กลับจำ ทำยังไงดี? วันนี้จีมีข้อมูลดี ๆ จากเพจคลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎาและประสบการณ์ของตัวเองมาแชร์กันค่ะ

การลืม” ไม่ใช่ทางออกของปัญหาทั้งหมด

คุณหมอเจษฎา จากเพจคลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ได้เคยพูดถึงเรื่อง “อยากลืม” ให้ได้เร็ว ๆ ไว้ว่า ในกรณีที่เรามีความเศร้าโศกจากการสูญเสีย หลายคนคิดว่า “การลืม” คือ ทางออกของปัญหาทั้งหมด แล้วก็พยายามที่จะลืมเรื่องราว คนหรือสถานการณ์ที่ทำให้เศร้าให้ได้เร็ว ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราจำเป็นต้องใช้เวลาในการ “ก้าวผ่าน” อาจจะเป็นหลักเดือน เป็นปี หรืออาจจะนานหลายปี และความจริงที่เราควรตระหนักรู้ ก็คือ “ไม่มีใครสามารถลืมอะไรในขณะที่ยังมีความอยากที่จะลืม”

เพราะกลไกหนึ่งของ “การจำได้” ก็คือ การที่ราพยายามที่จะลืมนั่นเอง

คุณหมอยังบอกอีกว่า การพยายามลืมหรือพยายามไม่จำ นอกจากจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากแล้ว ยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเกิด “ความอยากที่จะลืม” ตัวของ “ความอยาก” นี่เองจะเป็นเหมือนมือที่คอยกวนแก้วน้ำของความทรงจำไม่ให้เกิดการตกตะกอน ซึ่งโดยธรรมชาติของการเยียวยาจิตใจนั้น เมื่อเวลาผ่านไปความเจ็บปวด ความเศร้าโศกเสียใจจะค่อย ๆ จางลงได้เอง แล้วเราก็จะเริ่มคิดถึงสิ่งอื่น ๆ สิ่งใหม่ ๆ หรือคิดถึงอนาคต แต่ความรู้สึกสูญเสียและความคิดถึงนั้นจะยังคงอยู่

เมื่อเราเข้าใจกลไกของความคิดและจิตใจแล้ว เราก็ไม่ควรที่จะไปพยายามอยากลืมอะไร ๆ ในแบบเดิม ๆ ที่เราเคยทำเพราะมันไม่ได้ผลดีอะไร วิธีจัดการกับความทรงจำในด้านลบที่ดีที่สุดที่คุณหมอแนะนำ ก็คือ การค่อย ๆ ยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทรงจำนั้นให้ได้อย่างฉันท์มิตร ไม่ผลักไส หรือไม่ต้องติดป้ายนำจับมัน แล้วเราจะสามารถรอมชอมกับอดีตได้มากขึ้น

จีเองเป็นคนหนึ่งที่เคยพยายามที่จะลืมความทรงจำที่เลวร้ายและความรู้สึกเจ็บปวดในอดีตที่ฝังใจ ยิ่งในช่วงเวลาที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วยนั้น ใจจีแทบจะรับอะไรไม่ได้เลย มันรู้สึกเจ็บปวดมากมายบอกไม่ถูกเลยว่ามันเจ็บปวดตรงไหน ภาพความทรงจำในอดีต ความรู้สึกลบ ๆ ผุดขึ้นมามากมาย ยิ่งอยากลืมมันยิ่งตอกย้ำ ยิ่งทำให้ทุกข์ใจหนักขึ้นไปอีก แต่ในที่สุดเมื่อจีได้เปิดใจเรียนรู้ ยอมรับและอยู่กับมันอย่างเข้าใจ มันก็ทำให้จีสามารถพาตัวเองก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานั้นมาได้

อีกสิ่งหนึ่งที่จีได้เรียนรู้ทำให้จีเข้าใจและสามารถที่จะรับมือกับความอยากลืมแต่กลับจำได้ ก็คือการเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิตใต้สำนึก ซึ่งมันเป็นจิตส่วนลึกที่ทำหน้าที่บันทึกความทรงจำของเราไว้ มันไม่สามารถตีความได้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร มันแค่รู้ว่าอะไรที่เรานึกถึงอยู่บ่อย ๆ ก็แสดงว่าเราต้องการสิ่งนั้นมันก็จะดึงดูดสิ่งเหล่านั้นมาหาเรา และจีก็ได้ค้นพบวิธีที่นักจิตวิทยาหรือไลฟ์โค้ชใช้กันในการที่จะช่วยให้สามารถรับมือและจัดการกับความความคิดที่วนลูปหรืออาการอยากลืมแต่กลับจำของจีนั่นก็คือ เคล็ดลับช้างสีชมพู

อยากชวนเพื่อน ๆ มาทำความเข้าใจและทดลองทำไปพร้อมกันเพื่อจะนำไปปรับใช้รับมือกับอาการอยากลืมแต่กลับจำของตัวเองให้อยู่หมัด ตอนนี้ให้ลองจินตนาการหรือนึกถึงภาพช้างสีชมพู หลังจากนั้นให้บอกตัวเองว่าอย่านึกถึงช้างสีชมพู ย้ำกับตัวเองว่าอย่านึกถึงช้างสีชมพู แล้วบอกตัวเองว่าให้ลืมช้างสีชมพูนั้นไปซะ เราจะพบว่ายิ่งพยายามที่จะลืมหรือไม่นึกถึงภาพช้างสีชมพูมันก็ยังเกิดขึ้นเป็นภาพในหัวของเราติดอยู่อย่างนั้นยิ่งอยากลืมแต่กลับจำ ยิ่งบอกตัวเองว่าอย่านึกถึงภาพช้างสีชมพูก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกใช่ไหมคะ

วิธีที่จะทำให้เราออกจากอาการอยากลืมแต่กลับจำหรือไม่นึกถึงช้างสีชมพูนั้นได้ ก็คือ การนึกถึงช้างสีอื่นดู อาจจะเป็นช้างสีทอง สีเหลืองหรือสีอะไรที่เราชอบมันสามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากช้างสีชมพูได้ ช้างสีชมพูนั้นก็เปรียบเสมือนความทรงจำที่รบกวนจิตใจเราหรือความรู้สึกนึกคิดที่เราไม่ต้องการหรืออยากลืมนั่นเอง นี่เป็นเคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งที่จีใช้เพื่อพาใจตัวเองหลุดออกจากความทรงจำออกจากความคิดลบ ๆ ด้วยการแทนที่ด้วยความคิดบวกโดยการโฟกัสหรือนึกถึงสิ่งที่เราต้องการเท่านั้นซึ่งเราต้องให้เวลากับตัวเองในการฝึกฝนด้วยค่ะ

ในทุกวันนี้จีเองก็ยังคงมีความทรงจำในอดีตที่มันชอบผุดขึ้นมาเสมอ แต่ความทรงจำเหล่านั้นมันไม่สามารถมาทำร้ายจิตใจจีได้อีกเพราะจีเปลี่ยนทุกความทรงจำที่เลวร้ายให้เป็นบทเรียนสอนใจด้วยการขอบคุณ ขอบคุณทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ขอบคุณทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สอนให้จีได้เรียนรู้ที่ทำให้จีเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นและได้มองเห็นคุณค่าในชีวิตมากขึ้น

เพระฉะนั้นหากใครที่กำลังพยายามที่อยากจะลืมใครบางคนหรือเหตุการณ์บางอย่างที่มันยังคงค้างคาใจ แต่ยังทำไม่ได้สักทียิ่งอยากลืมแต่กลับจำแล้วยิ่งทำให้ทุกข์ใจมากขึ้นก็ลองเปลี่ยนมาค่อย ๆ ยอมรับและเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจไปกับมันเพื่อที่เราจะได้พาใจเราก้าวข้ามผ่านมันไปได้ แล้วอย่าลืมลองใช้เคล็ดลับช้างสีชมพูดูด้วยนะคะได้ผลยังไงแวะมาบอกกันบ้างนะคะ

เพิ่มเพื่อน

ที่มา : คลีนิคสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>> สะกดจิตตัวเอง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here