อาหารบำบัดโรคซึมเศร้า

คุณรู้หรือไม่ว่าอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดมีผลต่อยารักษาโรคซึมเศร้า? และมันส่งผลให้การรักษาของคุณไม่เป็นผลดี เพราะมันอาจขวางการดูดซึมของยาหรือซ้ำเติมอาการป่วยของเราได้ จากข้อมูลความรู้ที่จีได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและค้นคว้าเพิ่มเติมในตอนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะยาต้านเศร้านั้น มีผลข้างเคียงและมีข้อควรระวังแต่คุณหมอของเราอาจไม่ได้แนะนำหรือแนะนำแต่เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ จีจึงนำข้อมูลที่นักโภชนาการแนะนำอาหารและเครื่องดื่มที่ “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” ควรกินและควรงดมาแชร์เพื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ กันค่ะ

อาหารบำบัดโรคซึมเศร้า

จากประสบการณ์ความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าของจีที่ผ่านมาในช่วงห้าปีแรก โรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่รู้จักและการให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจในโรคซึมเศร้ามีน้อยมาก และจียังไม่เข้าใจในเรื่องยาและการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทำให้การรักษาโรคซึมเศร้าไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จีไม่เคยได้ใส่ใจในเรื่องการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของตัวเองส่งผลให้จีต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคในชีวิต รวมทั้งเรื่องการรักษาโรคซึมเศร้าด้วย ในตอนนั้นที่กินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ จีติดกาแฟ ดื่มน้ำอัดลม และมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ดี อีกทั้งความรู้สึกเบื่ออาหารมีมากขึ้นส่งผลให้น้ำหนักลดลงฮวบลงไปอย่างน่าใจหาย แล้วยังดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ซึ่งช่วงนั้นมีอาการรุนแรงส่งผลให้จีทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายเพราะขาดสติ

หลังจากที่กลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าครั้งสุดท้ายที่ผ่านมา มันทำให้จีตระหนักรู้แล้วหันกลับมาดูแลตัวเอง ตั้งใจกินยารักษาโรคซึมเศร้าและใส่ใจในเรื่องอาหารการกินที่ดี รวมถึงการเยียวยาบำบัดตัวเองด้วย อาหารบำบัดโรคซึมเศร้า เป็นการเยียวยาบำบัดตัวเองอีกทางเลือกหนึ่งที่จีใช้แล้วมันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยให้จีหายป่วยจากโรคซึมเศร้าและป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้อีกด้วย จึงอยากให้เพื่อน ๆ หันมาใส่ใจในเรื่องอาหารการกินของตัวเองให้มากขึ้นค่ะ

Thumbnail Seller Link
7 เคล็ดลับ เอาชนะโรคซึมเศร้าด้วยตัวเราเอง
ศศินา แบล็ค
www.mebmarket.com
จีเป็นอดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่เคยป่วยแบบไม่รู้ตัวมาก่อนและรักษาตัวมายาวนานเกือบ 10 ปี ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยทางใจ และไม่คิดว่าตัวเอง…
Get it now

นางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ ได้แนะนำอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานและไม่ควรรับประทานไว้ดังนี้

อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทาน

  1. กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพช่วยลดอาการซึมเศร้า คือ โอเมกา 3 ได้แก่ อาการจำพวกเนื้อปลาต่าง ๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาดุก ปลาช่อน เป็นต้น
  2. ไข่ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟนและไทโรซีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างสารเซโรโทนินทำให้อารมณ์ดี และยังเปลี่ยนเป็นเมลาโทนินซึ่งช่วยให้เรานอนหลับดีขึ้น
  3. กล้วย จะมีแร่ธาตุโพแทสเชียมและสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล
  4. คาร์โบไฮเดตรเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ลูกเดือย ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างสารเซโรโทนินในสมองช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
  5. เห็ดทุกชนิด จะมีธาตเซเลเนียมสูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้

อาหารบำบัดโรคซึมเศร้า

เครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  1. น้ำอัญชัน ในดอกอัญชันนั้นจะมีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวลและช่วยให้นอนหลับ
  2. น้ำลำไย ซึ่งมีกรดแกลลิกช่วยให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียดและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

สำหรับอาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรงด

เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยา คือ

  1. อาหารที่มีน้ำตาลสูง มีรสหวานจัด ร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็ว และร่างกายเกิดภาวะเครียด อาจนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้าได้
  2. อาหารประเภทไส้กรอกและถั่วปากอ้า มีสารไทรามีนสูง ซึ่งทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้

อาหารบำบัดโรคซึมเศร้า

เครื่องดื่มที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรงด

  1. ชา กาแฟ เพราะมีคาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ส่งผลให้วิตกกังวลและมีความเครียดเพิ่มขึ้น
  2. น้ำอัดลมประเภทสีดำ ซึ่งมีคาเฟอีนและน้ำตาลสูง ถึงแม้บางประเภทจะระบุว่าไม่มีน้ำตาลก็ต้องควรระวัง เพราะมีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หากดื่ม 4 กระป๋องหรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 3  เท่า
  3. น้ำผลไม้บางชนิด เช่น ส้ม องุ่น เสาวรส อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษาหรือขัดขวางการดูดซึมของยา

นอกจากนี้การที่เราจะใช้ยาสมุนไพรในการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้า ก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน เพราะสมุนไพรบางตัวมีผลกับยาต้านเศร้าที่เรากิน เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและประสิทธิภาพในการรักษา เราควรปรึกษาจิตแพทย์ที่รักษาเราหรือผู้เชี่ยวชาญก่อน เพราะมีกรณีที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าใช้ยาสมุนไพรและอาหารเสริมที่เป็นสมุนไพรในขณะที่กินยาต้านเศร้าอยู่ ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงทำให้การรักษายากขึ้น ยาวนานขึ้น ซับซ้อนขึ้น

จีหวังว่าเพื่อน ๆ จะได้ประโยชน์และมองเห็นแนวทางในการดูแลตัวเองที่นักโภชนาการแนะนำอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรกินและควรงด เพื่อที่จะเป็นการช่วยให้การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าของตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้นนะคะ

เพิ่มเพื่อน

ที่มา : กรมสุขภาพจิต

Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>> กินอย่างไรให้หายซึมเศร้า?

2 COMMENTS

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here