ยารักษาโรคซึมเศร้า, โรคซึมเศร้า, บริจากโลหิต

กินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ บริจาคโลหิตหรือบริจาคเลือดได้ไหม?” มีเพื่อนคนนึงที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถามมาทางอินบ็อกซ์ในเพจของจี  เพราะเขาอยากไปบริจาคเลือด แต่มีเพื่อนของเขาบอกว่า กินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่บริจาคเลือดไม่ได้ อีกทั้งยังโดนเพื่อนบั่นทอนจิตใจด้วยคำพูดลบ ๆ ประมาณว่าตัวเองป่วยแบบนี้แล้วยังจะเอาเลือดไม่ดีไปให้คนอื่นอีกเหรอ ซึ่งเพื่อนคนนั้นบอกจีว่านอกจากจะรู้สึกแย่ที่ไม่สามารถทำอะไรดี ๆ ได้อย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว แถมยังรู้สึกแย่กับคำพูดของเพื่อนถากถางหนักเข้าไปอีกจนรู้สึกดิ่งไปเลย

จีขอแนะนำว่าถ้าอยากรู้ว่าเราบริจาคเลือดได้หรือไม่ได้นั้น หรืออยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพิ่มเติม ให้ถามผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะดีกว่า งดถามผู้ที่คิดว่าตัวเองรู้ (แต่จริง ๆ แล้วไม่รู้) หรือคนที่มีอคติกับโรคซึมเศร้าหรือชอบตัดสินอะไรโดยเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน  เพราะนอกจากจะไม่ได้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ยังอาจจะทำให้เรารู้สึกแย่จนดิ่งแล้วทำให้อาการหนักขึ้นไปอีก

ตอนจีรักษา โรคซึมเศร้า อยู่ที่เมืองไทยจีก็ ด้รับการปฏิเสธรับบริจาคเลือด ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะเรา กินยารักษาโรคจิตเวช อยู่  โดยที่ไม่ได้มีการสอบถามเพิ่มเติมในเรื่องยาใด ๆ แต่พอมารักษาตัวที่ออสเตรเลีย จีกลับสามารถบริจาคเลือดได้ ซึ่งจีไปถามกับสภากาชาดของออสเตรเลียโดยตรงเลย เขาจะมีหนังสือคู่มือที่ตรวจเช็คชื่อยาที่เรากิน พอเช็คดูแล้วก็สามารถบริจาคเลือดได้ไม่มีปัญหา

หลังจากที่บริจาคเลือดไปแล้ว พอเลือดของเราได้ถูกใช้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็จะได้รับข้อความทางโทรศัพท์และอีเมล เพื่อแจ้งเราทราบและได้รับข้อความขอบคุณ ที่เราได้บริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น

เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าจริงๆแล้ว กินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ บริจาคเลือดได้ไหม? นั้น จีจึงนำข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้เขียนบทความให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากเพื่อน ๆ กันค่ะ

จากบทความในเพจของคุณหมอเจษฎา ที่คุณหมอตอบคำถามเรื่องกินยาจิตเวชอยู่บริจาคเลือดได้ไหม? (ซึ่งก็หมายรวมถึงยารักษาโรคซึมเศร้าด้วย) คุณหมอบอกว่าการบริจาคเลือด เป็นประเด็นที่มีแฟนเพจ สอบถามกันเข้ามาตลอด คุณหมอได้สรุปเกี่ยวกับประเด็นนี้มาเป็นสไลด์ให้เข้าใจง่าย ๆ ตามนี้ค่ะ

นอกจากนี้คุณหมอยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า

  1. นโยบายและแนวทางการรับบริจาคโลหิต ของสภากาชาดแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน เช่น ที่อเมริกาหรือออสเตรเลีย การทานยาใดๆอยู่ ไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเราจะไม่มีคุณสมบัติที่จะบริจาคเลือด
  2. (ที่ต่างประเทศ) การที่จะบริจาคเลือดได้หรือไม่นั้น จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับ สุขภาพทางจิต รวมทั้งเหตุผลที่เรา ได้รับยามากกว่า ตราบใดที่อาการทางจิตของเรายังดี และสุขภาพโดยรวมก็แข็งแรงดี ก็สามารถบริจาคเลือดได้ (อาจเป็นเพราะต่างประเทศมีศักยภาพที่จะจัดการเหตุอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นและขณะบริจาคเลือดได้)
  3. ในส่วนของประเทศไทยนั้น ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ออก “หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตที่ใช้ยา” ฉบับล่าสุดปี 2552  ซึ่งก็เป็นที่มาของสไลด์ข้างต้นนี้

การบริจาคเลือด นอกจากเราจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นได้แล้ว มันยังเป็นประโยชน์กับตัวเราเองด้วย ทางสภากาชาตไทยได้ระบุไว้ในบทความที่ทาง สสส.แชร์มา ประโยชน์มากมายจากการบริจาคเลือด  ซึ่งตัวจีเองก็ได้รับประโยชน์มากมายจากการบริจาคเลือดในทุก ๆ ครั้ง มันช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง แล้วมันยังช่วยให้จีเอาชนะความคิดลบ ๆบางอย่างในหัว ซึ่งในช่วงที่จีป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลและโรคแพนิกร่วมด้วยจีจะรู้สึกว่าตัวเองไม่แข็งแรง กลัวตัวเองจะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เพราะอาการที่เกิดขึ้นกับจีมีมากมาย

แต่การบริจาคเลือดมาสามครั้ง ตั้งแต่ตอนป่วย ทุก ๆ ครั้งเจ้าหน้าที่สภากาชาดจะตรวจเช็คร่างกาย ทั้งความดันและตรวจเลือดก่อน พอบริจาคเสร็จ ก็จะได้รับคำชมว่าร่างกายเราแข็งแรงมากเลยรู้ไหม แล้วเลือดเราสูบฉีดดีแป๊บเดียวเต็มถุงเลยไม่ต้องรอนาน หลังจากนั้นจีก็บอกตัวเองเสมอว่าเราแข็งแรงนะ ไม่ได้อ่อนแอเหมือนที่คิดแล้วมันยังช่วยสร้างกำลังใจและแรงบันดาลใจ ให้จีหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หันกลับมารักและดูแลตัวเอง เพื่อที่สร้างคุณค่าส่งต่อให้ผู้อื่นต่อไป

จีหวังว่าเพื่อนๆที่กำลังกินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่และมีความสงสัยว่า กินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่บริจาคเลือดได้ไหม? คงได้รับคำตอบที่ค้างคาใจและข้อมูลเพื่อเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจกันมากขึ้น หากใครตรวจเช็คแล้วว่าเราไม่สามารถบริจาคเลือดได้ ก็ไม่เป็นไรนะคะ เรายังสามารถที่จะทำความดีเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและผู้อื่นได้อีกมากมายหลายทาง เป็นกำลังใจให้เพื่อนๆทุกคนนะคะ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>>

โรคซึมเศร้า ของผู้หญิงย่างเข้าวัย 40

ที่มา : เพจคลีนิคสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา, www.thaihealth.or.th

Photo by Pexels.com, Pixabay.com

.

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here