โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้ไหม? แล้วจะหายขาดไหม? ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนไม่แน่ใจว่าโรคซึมเศร้าจะสามารถรักษาให้หายได้ไหมเพราะรักษามานานจนรู้สึกท้อแล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะหายสักที หรือบางคนรักษาจนหายแล้วก็กลับมาป่วยซ้ำจนต้องกินยารักษาใหม่อีก จีเองก็เคยสิ้นหวังในการรักษาและไม่คิดว่าตัวเองจะหายป่วยได้เพราะป่วยและรักษามายาวนานเกือบสิบปี แต่ในที่สุดก็สามารถหยุดยารักษาแล้วหายป่วยได้ แต่ก็ไม่หายขาด จีขอแชร์ประสบการณ์ของตัวเองและข้อมูลดี ๆ จากศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทยเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ที่สนใจค่ะ
จากข้อมูลของศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย ได้อธิบายถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการหายป่วยจากโรคซึมเศร้าและแบ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาแล้วมีโอกาสหายขาดได้สูง และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีโอกาสเป็นเรื้อรังไม่หายขาด ไว้ดังนี้
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง
คือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แล้วคุณหมอมักจะบอกว่าผู้ป่วยคนนี้มีการพยากรณ์โรคที่ดี ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ ตามลักษณะ 7 ข้อ ดังต่อไปนี้
- มีความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในระดับน้อย
- ไม่เป็นโรคทางจิตเวชอื่นร่วม หรือไม่มีความผิดปกติของบุคลิกภาพ
- ป่วยครั้งแรกในตอนที่อายุมากแล้ว
- ไม่เคยได้นอนรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือนอนที่โรงพยาบาลไม่เกิน 1 ครั้งในช่วงสั้น
- มีสัมพันธภาพในครอบครัวที่ดีและมั่นคง
- เคยมีสัมพันธภาพกับเพื่อนสมัยวัยรุ่นแบบมั่นคงยาวนาน
- เคยมีการเข้าสังคมทั่วไปที่ดี อย่างน้อย 5 ปีก่อนป่วย
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีโอกาสเป็นเรื้อรังไม่หายขาด
ซึ่งภาษาทางการแพทย์เรียกว่า การพยากรณ์โรคไม่ดี ประกอบไปด้วยปัจจัยดังนี้
- มีภาวะโรคร่วมทางกาย มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
- เป็นโรคซึมเศร้าร่วมกับมีอาการวิตกกังวล
- ติดสุราหรือมีการใช้สารเสพติดแบบอันตราย
- เคยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 1 ครั้ง
- เป็นเพศชาย
- มีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคซึมเศร้า
- มีบุคลิกภาพแบบอ่อนไหว ขี้กังวล ไวต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านสังคม
เมื่อทราบข้อมูลดังนี้แล้ว บางปัจจัยสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เช่น การใช้สุรา หรือสารเสพติด เป็นต้น บางปัจจัยสามารถปรับให้ดีขึ้นได้ เช่น บุคลิกภาพ โรคทางกาย หากสามารถควบคุมปัจจัยดังกล่าวมาข้างต้นได้ดี ย่อมมีแนวทางรักษาให้หายได้
แต่หากมีครบทั้ง 7 ปัจจัย เชื่อได้ว่าต้องใช้ความพยายามในการรักษาและต้องให้ญาติผู้ดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อประคับประคองอาการซึมเศร้าให้ลดระดับความรุนแรงลงไปได้อย่างต่อเนื่องมากที่สุด
จากข้อมูลดังกล่าวช่วยให้จีเข้าใจตัวเองและโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีโอกาสเป็นเรื้อรังไม่หายขาด เนื่องจากจีมีภาวะวิตกกังวลร่วมด้วย จนกลายเป็นโรควิตกกังวลและโรคแพนิก รวมถึงมีบุคลิกภาพที่อ่อนไหว ขี้กังวล และไวต่อการถูกวิพากณ์วิจารณ์หรือต่อต้านสังคม
แต่เนื่องจากในตอนที่ป่วยนอกจากจีจะเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเองแล้ว จียังฝึกพัฒนาตัวเองและปรับบุคลิกภาพของตัวเองจึงทำให้จีสามารถหยุดยารักษาโรคซึมเศร้าได้ แต่ไม่หายขาดเพราะจีต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะกลับมาป่วยซ้ำหลายครั้ง แต่จีเลือกไม่ใช้ยาแต่ใช้การเยียวยาบำบัดกับนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญและฝึกเรียนรู้จากคอร์สเพื่อเยียวยาบำบัดตัวเอง
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจจะทำให้เพื่อน ๆ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลายคนมีความหวังและกำลังใจในการรักษาบำบัดมากขึ้น เพราะเข้าข่ายผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีโอกาสหายขาด แต่ก็อย่าประมาทกับโรคซึมเศร้านะคะ การดูแลรักษาสมดุลสุขภาพกายและใจไว้ให้ดีเป็นสิ่งที่เราควรทำที่สุดเพื่อป้องกันโรคซึมเศร้าได้
ส่วนเพื่อน ๆ ที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังและอาจไม่หายขาด ก็อย่าได้กังวลใจไป เพราะถ้าเรามัวแต่กังวลและรู้สึกแย่ไปกับมัน แทนที่เราจะใช้ชีวิตของเราให้มีความสุขก็จะยิ่งทำให้อาการเราแย่ลง จีขอแนะนำให้ลองปรึกษาและบำบัดกับนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้เราได้เรียนรู้ที่จะฝึกดูแลตัวเองและเยียวยาบำบัดจิตใจรวมทั้งพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนะคะ
โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้ หากเราเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่หายป่วยจากโรคซึมเศร้ารวมทั้งจีด้วย แต่อาจไม่หายขาด สำหรับจีแล้วการหายขาดหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะจีสามารถฝึกวางใจตัวเองให้ถูกที่ถูกทางไม่กังวลไปกับมันและฝึกที่จะเรียนรู้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สร้างสมดุลชีวิตจิตใจเพื่อป้องกันการกลับไปป่วยซ้ำและใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบันให้มีความสุขก็เพียงพอแล้ว
ที่มา : ศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย
Cr.Photos by Pixabay.com
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>>
ผลวิจัยชี้ “จิตบำบัด” ลดการป่วยซ้ำเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้า