หลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง แต่ยังไม่อาจตระหนักรู้และสงสัยว่าทำไมกินยารักษาโรคซึมเศร้ามาก็นานแล้วไม่หายขาดเสียที? บางคนหยุดยาได้แล้วก็กลับมาป่วยซ้ำอีก บางคนก็กินยาไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าจะต้องกินไปอีกนานแค่ไหนจนรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้และสิ้นหวังกับการรักษา จีก็เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและรักษาด้วยยามาประมาณห้าปีก็ยังไม่หายขาดและกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำรุนแรงอีก หลังจากเข้ารับการรักษาอีกครั้งจีกินยารักษาประมาณปีกว่าก็ยังไม่หายป่วย จากการพยายามค้นคว้าหาข้อมูลโรคซึมเศร้ามันจึงทำให้จีได้เข้าใจว่าตัวเองป่วยเป็น “โรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง” มันช่วยให้จีได้มองเห็นแนวทางในการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าเรื้อรังและการเยียวยาบำบัดตัวเองจนหายป่วยจากโรคซึมเศร้าและแนวทางป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้สำเร็จ
จากการที่จีได้รู้จักกับเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่เข้ามาทักทายพูดคุยกันทางอินบ๊อกซ์ เพจเยียวยารักษาใจ : Heal your Mind by GG ส่วนใหญ่เพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังขาดความรู้ความเข้าใจในโรคซึมเศร้าและการรักษาบำบัด ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิตอยู่กับโรคซึมเศร้าเรื้อรังที่ยาวนานเป็นสิบถึงยี่สิบปี บางคนจำเป็นต้องกินยาไปแบบไม่มีกำหนดว่าจะได้หยุดยาเมื่อไหร่หรือบางคนอาจจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต จีอยากชวนเพื่อน ๆ มาทำความเข้าใจกับโรคซึมเศร้าเรื้อรัง โดยเฉพาะคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและกินยารักษามายาวนานจนรู้สึกสิ้นหวังกับการรักษาด้วยยาแล้ว
โรคซึมเศร้าแบ่งออกได้หลายชนิด จึงทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนมีอาการที่แตกต่างกันไป บางคนมีอาการเล็กน้อยบางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นทำร้ายตัวเองและคิดฆ่าตัวตาย วิธีการรักษาบำบัดที่ได้รับและระยะเวลาในการรักษาก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับชนิดของโรคซึมเศร้ากันนะคะ
ชนิดของโรคซึมเศร้า
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ได้แบ่งโรคซึมเศร้าออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง (Major Depressive Depression) หรือที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยเรียกสั้น ๆ ว่า MDDเป็นภาวะซึมเศร้าที่สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน การกินอยู่หลับนอนของผู้ป่วย อาการต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจะเกิดติดต่อกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ และอาการจะรุนแรงกว่าโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง
2. โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder) อาการจะรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง แต่อาการต่าง ๆ จะคงอยู่กับผู้ป่วยยาวนานกว่ามาก เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังก็สามารถมีอาการรุนแรงแบบโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงได้เช่นกัน
3. โรคไบโพลาร์หรือโรคซึมเศร้าอารมณ์สองขั้ว (Bipolar หรือ Manic-depressive illness) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบนี้มีอาการผิดปกติแบบอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ร่วมด้วย อารมณ์จะแปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างอารมณ์ดีผิดปกติ ซึ่งเป็นช่วงอารมณ์ที่สนุกคึกคักเกินเหตุ มีพลังงานในร่างกายเหลือเฟือ พูดมากกว่าปกติที่เคยเป็น เรียกว่า ช่วง Mania และอีกช่วงหนึ่ง คือช่วงภาวะซึมเศร้า หรือ Depression ส่วนใหญ่อาการมักจะค่อยเป็นค่อยไป แต่บางคนก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ในช่วง Mania ผู้ป่วยอาจมีความคิดและพฤติกรรมหลงผิด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจกลายเป็นโรคจิตเภทได้
สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
ทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้แบ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าเรื้อรังไว้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปัจจัยทางชีววิทยา ได้แก่ พันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitters) และการปรับประดับฮอร์โมนในสมอง (Neuroendocrine regulation) และปัจจัยทางจิตสังคม ได้แก่ ความเครียดจากเหตุการณ์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ครอบครัวและบุคลิกภาพ จากสาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่กล่าวมาแล้วนั้น จีพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ได้รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว และเข้าไม่ถึงการรักษาบำบัดเพื่อเยียวยาแก้ไขปัจจัยทางจิตสังคม หรือการทำจิตบำบัดและการเยียวยาบำบัดอื่น ๆ ที่จำเป็น
การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวก็จะตอบโจทย์แค่เพียงปัจจัยทางชีววิทยา ส่วนปัจจัยทางจิตสังคมหรือจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นหากยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขก็ไม่อาจทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ จึงกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังที่ยังคงต้องใช้ยาประคับประคอง บางทีผู้ป่วยหยุดยาได้แล้ว ก็กลับมาป่วยซ้ำแล้วก็ใช้ยารักษาต่อไปอีกไม่อาจหายขาดได้ หากเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าท่านใดที่รักษาด้วยยาอย่างเดียวมานานแล้วไม่หายป่วยเสียที ก็จำเป็นต้องกลับมาสำรวจปัจจัยทางด้านจิตใจหรือจิตสังคมที่เกี่ยวข้องว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้เรายังป่วยอยู่แล้วยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข เมื่อตระหนักรู้แล้วก็ควรมองหาแนวทางใน การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก อื่น ๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์โรคซึมเศร้าเรื้อรังของตัวเราเองได้
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : สาเหตุของโรคซึมเศร้าที่แท้จริงคืออะไร?
แนวทางการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
การรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัด เป็นแนวทางการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าเรื้อรังที่นิยมใช้ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่จากประสบการณ์ของจีในการรักษาโรคซึมเศร้าที่ป่วยครั้งแรกและประสบการณ์ในการพูดคุยเก็บข้อมูลจากเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันมากว่าห้าปี ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังส่วนใหญ่ มักจะได้รับแค่การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว หรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางส่วนที่ได้รับการทำจิตบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา แต่อาจจะไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรหรือบำบัดไม่ต่อเนื่องเพราะไม่เข้าใจและยังไม่เห็นความสำคัญ เลยทำให้การรักษาบำบัดไม่ได้ผลก็มีไม่น้อย
ส่วนในกรณีของจีในครั้งที่กลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำอีกครั้ง ได้รับการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัดประมาณปีกว่า แต่ก็ยังไม่สามารถหายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้ จีจึงสำรวจและวิเคราะห์ถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้ตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังแล้วพบว่า จีมีความเครียดเรื้อรังสะสมเกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ปัญหาชีวิต และมีปมปัญหาขัดแย้งภายในใจที่รุนแรง มีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพหรือนิสัยเข้ามาเกี่ยวข้องส่งผลให้จีเหมือนมีสองบุคลิกภาพ และมีโรควิตกกังวลกับโรคแพนิกร่วมด้วย มันทำให้การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าของจีนั้นค่อนข้างซับซ้อนและยากขึ้น จีเคยสิ้นหวังกับการรักษาด้วยยาที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความเจ็บป่วยของจีได้ จนจีได้เรียนรู้และค้นพบการเยียวยาบำบัดทางเลือก แบบไม่ใช้ยา จีจึงเลือกการเยียวยาบำบัดที่เหมาะสมกับตัวเองจนช่วยให้จีหายป่วยได้จากทุกโรคและสามารถป้องกันการกลับไปป่วยซ้ำได้
หากเพื่อน ๆ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังแล้วรักษาด้วยยาอย่างเดียว ขอให้มองหาการทำจิตบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ขอแนะนำการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT) แล้วฝึกฝนตัวเองเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดและพฤติกรรมของตัวเองที่ส่งผลให้เราป่วยมันช่วยได้มากเลยทีเดียวค่ะ แต่สำหรับคนที่มีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพหรือนิสัย เช่น นิสัยชอบความสมบูรณ์แบบหรือเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) เป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง (Introvert) โดยเฉพาะคนที่มีบุคลิกภาพแบบ INFJ INFP เมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วจะมีความคิดซับซ้อนเข้าใจยาก สับสนในตัวเอง เข้าถึงยาก อาจทำให้มีกำแพงในการรักษาบำบัดมากกว่าคนอื่น และคนที่มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-esteem) อาจเนื่องมาจากปัญหาครอบครัวในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเกิดจากการเลี้ยงดู ปัญหาพ่อแม่หย่าล้างกัน ถูกทิ้งให้อยู่กับญาติ ถูกบูลลี่ (Bully) หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หากได้รับการเยียวยาแก้ไขหรือได้รับการบำบัดที่เหมาะสมได้ ก็จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นแล้วหายป่วยได้ จีขอแนะนำการเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึกและการพัฒนาบุคลิกภาพจะช่วยตอบโจทย์เกี่ยวกับปัจจัยทางด้านจิตใจและจิตสังคมได้ดี
ความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชนั้นมีผลมาจากการขาดสมดุลในการใช้ชีวิตของคนเรา ซึ่งมี 3 ด้าน คือ ด้านร่างกาย จิตใจและจิตสังคม หากอยากหายป่วยจากโรคซึมเศร้านอกจากการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัดแล้ว เราก็จำเป็นต้องกลับมาสร้างสมดุลชีวิตทั้ง 3 ด้านนี้ด้วยค่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้า (เพื่อลดยาและหยุดยา)
อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ยาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของโรคซึมเศร้า
หากต้องการพูดคุยกับจีหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก สามารถแอดไลน์เพิ่มเพื่อนได้เลยค่ะ

[…] 7. การขาดสมดุลชีวิตทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย จิตใจและจิตสังคมสามารถส่งผลหรือก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว เราจำเป็นต้องปรับสมดุลทั้งสามด้านนี้เพื่อให้หายป่วยจากโรคและป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้อีกด้วย แต่ส่วนใหญ่เพื่อนผู้ป่วยมักจะใช้ยาอย่างเดียวซึ่งเน้นการรักษาที่ปลายเหตุหรือร่างกายเพียงส่วนเดียว ส่วนทางด้านจิตใจและจิตสังคมนั้นไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องกินยาเพื่อประคับประคองต่อไปและเพื่อควบคุมอาการกำเริบ จึงยังคงทำให้ไม่สามารถหยุดใช้ยารักษาได้ หรือบางคนสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤติชีวิต ไม่มีความกดดันใด ๆ มากระตุ้นอาการ อาการอาจจะดีขึ้นกินยาจนครบกำหนดที่หมอเห็นว่าสามารถหยุดยาได้แล้ว แต่พอมีปัจจัยกระตุ้นหรือเหตุการณ์มากระทบใจอีกก็สามารถกลับมาป่วยซ้ำได้อีกแล้วต้องกลับมาใช้ยารักษากันใหม่จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง […]