คุณกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่หรือเปล่า? รู้สึกว่างเปล่า ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เศร้า มึน ๆ อึน ๆ ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร?  ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรทำไมถึงรู้สึกแบบนี้? จีเคยเขียนบทความ  โรคซึมเศร้ากับ “ภาวะสิ้นยินดี” และวิธีการรับมือ เพื่อช่วยให้เพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ได้เข้าใจภาวะสิ้นยินดี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ในช่วงเวลาที่จีป่วยด้วยโรคซึมเศร้าก็มี ภาวะสิ้นยินดีโดยไม่รู้ตัวและไม่เข้าใจ แล้วมันเป็นแบบยาวนานและทุกข์ทรมานมาก มีเพื่อนผู้ป่วยหลายคนมีอาการเช่นนี้และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  รวมทั้งอยากให้จีแชร์ประสบการณ์ในการก้าวข้ามผ่าน จีจึงเขียนบทความนี้เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้ทำความเข้าใจกับ ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) และแนวทางการรักษาบำบัด เพื่อที่จะได้ก้าวข้ามผ่านมันไปได้เช่นกันค่ะ

ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) คืออะไร?

ทางการแพทย์ได้ให้ความหมายกับ ภาวะสิ้นยินดี หรือ แอนฮีโดเนีย (ANHEDONIA) ไว้ว่า  เป็นอาการผิดปกติทางจิตเวชหรือความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยจะเฉยชาต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง มักจะพบในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ แต่ก็อาจจะพบได้ในคนปกติทั่วไปหรืออาจจะเป็นผลมาจากโรคทางกายได้เช่นกัน

อาการของภาวะสิ้นยินดี

  • รู้สึกไม่ยินดียินร้าย เฉยชาต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตและผู้คนรอบตัว
  • มีความคิดด้านลบต่อตัวเองและผู้อื่น
  • รู้สึกว่าไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากเจอใคร แสดงออกด้านอารมณ์ทั้งคำพูดและการกระทำน้อยลง ต้องฝืนในการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ
  • มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวน้อยลง เก็บตัวและแยกตัวออกจากสังคม
  • รู้สึกไม่อยากจะทำอะไร หมดความสนใจกับกิจกรรมที่เคยชอบทำ
  • รู้สึกสิ้นหวังจนกลายเป็นความรู้สึกว่างเปล่า
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • มีอาการของโรคกลัวสังคม (Social Anxiety)
  • เกิดความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายอยู่บ่อย ๆ

อาการเหล่านี้จีได้รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์และจากประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันไป เราสามารถสังเกตตัวเองได้

สาเหตุของภาวะสิ้นยินดี

จากข้อมูลทางการแพทย์คาดว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองในการผลิตหรือตอบสนองอย่างผิดปกติต่อสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่า โดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกดีหรือพึงพอใจ ภาวะสิ้นยินดีนี้มักจะพบมากในผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ และโรคจิตเภท เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาต้านเศร้าหรือยาต้านอาการทางจิต นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน และผู้ที่ใช้สารเสพติดอีกด้วย

แชร์ประสบการณ์ ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia)

จีรู้จักกับ ภาวะสิ้นยินดี ในตอนที่กลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้งในครั้งสุดท้ายที่ผ่านมาหลายปีแล้ว และพบว่าตัวเองเคยอยู่กับภาวะนี้มาตั้งแต่ป่วยในครั้งแรก แต่ตอนนั้นไม่รู้ตัวและไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงรู้สึกเช่นนั้น จำเหตุการณ์ตอนนั้นได้ว่าตัวเองผ่านมรสุมชีวิตมาหลายครั้งจนชีวิตมีปัญหาถาโถมเข้ามาทั้งเรื่องการงาน การเงิน ความรักความสัมพันธ์ และเป็นช่วงเวลาที่จีรู้สึกผิดหวังในเรื่องชีวิตคู่และการหย่าร้างอีกครั้ง จนส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจด้วย โรคซึมเศร้า แบบไม่รู้ตัวว่ามันรุนแรงแล้ว

จีเก็บกดสะสมความรู้สึกด้านลบและมีความรู้สึกเจ็บปวดมากมายกับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งครอบครัวก็ไม่รู้ว่าจีป่วยเพราะจีจะเป็นคนที่รักครอบครัวมากไม่อยากจะให้เขารับรู้ความทุกข์ทรมานของเรา จีต้องใช้ชีวิตอยู่ลำพังคนเดียวที่ต่างจังหวัดเพื่อทำงานหาเงินส่งให้ลูกและครอบครัว มวลความรู้สึกด้านลบมหาศาลที่สะสมเก็บกดเอาไว้บวกกับปัญหาที่รุมเร้ามากมาย และประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทำให้ความรู้สึกเจ็บปวด เสียใจ และผิดหวังอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้นรุนแรงขึ้น จนรู้สึกว่าชีวิตและจิตใจมันพังแล้วใจมันจะรับไม่ไหวแล้ว ทำให้จีหันไปพึ่งแอลกอฮอล์และลองใช้สารเสพติด แล้วก็เริ่มทำร้ายตัวเองด้วยการกรีดข้อมือ จากแผลเล็กน้อยก็เริ่มมากขึ้นและใหญ่ขึ้น

ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่รู้ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไปทำไม แล้วก็ห้ามตัวเองไม่ได้ รับรู้แค่ว่ามันรู้สึกเจ็บปวดใจ ทุกข์ทรมานใจ รู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง รู้สึกเหมือนอยากให้คนที่เรารักได้รับรู้ว่าเราเจ็บปวดขนาดไหน แต่ไม่กล้าบอก ช่วงนั้นนอนไม่หลับและร้องไห้ทุกวัน แล้วก็หลับไปพร้อมน้ำตาท่วมหมอน จำได้ว่าไม่มีวันไหนเลยที่ไม่ร้องไห้ จนในที่สุดการทำร้ายตัวเองยังไม่รู้สึกเจ็บเท่ากับความเจ็บปวดใจ มันรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานไปหมดบอกไม่ถูกเลยว่ามันเจ็บปวดตรงไหนแล้วเจ็บปวดยังไง รู้แค่ว่าพอมันเจ็บถึงที่สุดหลังจากนั้นก็กลายเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกถึงแต่ความเฉยชา ว่างเปล่า ล่องลอย จีทำร้ายตัวเองแบบไม่รู้สึกเจ็บหรือกลัว  ที่ทำเพราะตัวเองไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกอะไรได้แล้วมันรู้สึกทรมานใจมาก จนในที่สุดวันที่รู้สึกว่าตัวเองแบกรับอะไรไม่ไหวแล้วจีทำร้ายตัวเองในครั้งนั้นรุนแรงที่สุดเพราะมันรู้สึกว่าไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกแล้ว แต่ก็รอดมาได้ ซึ่งจีเปลี่ยนไปรักษากับโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่งแทนจากที่เคยรักษากับโรงพยาบาลของรัฐมายาวนานประมาณ 3 ปี

ส่วนภาวะสิ้นยินดีที่เกิดขึ้นในตอนที่กลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้งนั้น จีรู้สึกว่าตัวเองเริ่มสิ้นหวังกับทุกอย่างเพราะปัญหาที่คาราคาซังมาจากการเจ็บป่วยครั้งแรกยังคงอยู่ และจีรู้สึกสิ้นหวังกับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา เพราะกินยาโดยรวมมากว่า  6 ปีแล้วก็ยังไม่หายเสียที จีจึงไม่ได้ปรึกษาหมอในเรื่องนี้ ความรู้สึกสิ้นหวังกับการพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างในชีวิตดีขึ้น เพราะพยายามมาจนเหนื่อยจนท้อแต่ก็ยังวนอยู่ใน ลูปของโรคซึมเศร้า อาการมันเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปรับยา จีมีความรู้สึกไม่อยากตื่นขึ้นมารับมารับรู้อะไร อยากหลับแล้วหายจากโลกนี้ไปเลย รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากคุยกับใคร แม้กระทั่งกับสามีและลูกที่อยู่ด้วยกัน อาการมันก็จะอึน ๆ มึน ๆ บอกไม่ถูก รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ เฉยชา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เหมือนชีวิตล่องลอยไร้จุดหมาย บ่อยครั้งที่รู้สึกหมดพลัง เหนื่อยแม้กระทั่งหายใจ นอนมองเพดานแบบโง่ ๆ อยู่อย่างนั้น แล้วรู้สึกว่างเปล่า ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร  แล้วก็ชีวิตให้ผ่านพ้นไปวัน ๆ แบบล่องลอย เหมือนตัวเองหลุดไปอยู่อีกโลกใบหนึ่ง

จีอยู่กับความรู้สึกเหล่านี้หรือภาวะสิ้นยินดีมาเรื่อย ๆ รู้สึกทรมานไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้ เคยคิดว่าให้กลับไปรู้สึกเศร้าเสียยังดีกว่า หลังจากที่อาการทรงตัวแล้วสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตก็ดีขึ้นแล้ว ซึ่งจีควรมีความสุขกับชีวิตได้แล้ว แต่จีกลับไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกมีความสุขกับใครหรืออะไรได้ในแบบที่มันควรจะเป็น มันรู้สึกทุกข์ทรมาน โหยหาความเป็นตัวเองคนเก่าที่เป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง ชอบทำให้คนอื่นมีความสุข กล้าหาญ กล้าแสดงออก จีกลายเป็นคนเก็บตัวอยู่คนเดียว ปฏิเสธการออกไปพบเพื่อนให้ได้มากที่สุด มองตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกหดหู่เพราะสีหน้า แววตาเศร้าหมอง ทรุดโทรม หลายคนก็ทักเพราะสีหน้าแววตามันแสดงออกชัดเจน บางครั้งเราไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ ความรู้สึกว่างเปล่ามันทวีคูณขึ้น ความตายเรียกหาดังขึ้น จีสู้อยู่กับความรู้สึกของตัวเองแล้วก็ดำดิ่งสู้หลุมดำแห่งความรู้สึกที่เหมือนไร้ก้นเหว

แต่หลังจากที่จีมีอาการทรงตัวมากขึ้นและได้ตระหนักถึงประสบการณ์ในครั้งก่อนที่ผ่านมา ในครั้งนี้จีมีสติมากขึ้นที่จะไม่ทำร้ายตัวเองแล้ว แต่ความคิดฆ่าตัวตายยังวนเวียนมาเป็นระยะ จำได้ว่าการเผชิญกับภาวะสิ้นยินดีในครั้งนี้ทุกข์ทรมานไม่แพ้กันเพียงแต่ไม่รุนแรง แต่ยาวนานจนสามารถประคับประคองตัวเองและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างเข้าใจ ฝึกดูแลเยียวยาและพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้านของชีวิตแล้วก็สามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ในที่สุด

สิ่งที่จีได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองและเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ที่มี ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีปมปัญหาขัดแย้งภายในใจ บาดแผลทางใจ หรือมีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ดีที่เคยสร้างความรู้สึกเจ็บปวด เสียใจ และผิดหวังซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง เก็บกดความรู้สึกด้านลบ ละเลยความรู้สึกหรือไม่อยากรับรู้สิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกเจ็บปวด จนมักจะสร้างกำแพงใจซึ่งเป็นกลไกทางจิตใจของคนเรา เพื่อปกป้องไม่ให้เราเจ็บปวดเกินไป  และด้วยบุคลิกภาพส่วนใหญ่เป็นพวกเพอร์เฟกชันนิสต์ (Perfectionist) คนที่มีวิธีคิดหรือมุมมองทางความคิดที่ยึดติด (Fixed Mindset) รวมทั้งมีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem) ปัจจัยเหล่านี้สามารถสร้างความซับซ้อนทางจิตใจมากขึ้น พอถึงจุดหนึ่งจากกำแพงใจที่มันเคยปกป้องความรู้สึกด้านลบมันจึงบล็อกความรู้สึกดีไม่ให้เข้าถึงใจเราด้วย จนกลายเป็นภาวะสิ้นยินดี ถึงแม้ชีวิตจะอยู่ในจุดที่ดีที่น่าจะมีความสุขได้แล้วก็มิอาจที่จะรับรู้ความรู้สึกดี ๆ หรือมีความสุขได้ อีกทั้งแม้แต่การรักตัวเอง รับรู้ความรู้สึกของตัวเองยังทำได้ยากมากค่ะ

คำแนะนำการเยียวยารักษา ภาวะสิ้นยินดี”

1. เมื่อคุณตระหนักรู้ว่ากำลังอยู่ใน ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) ให้รีบเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม และสิ่งสำคัญคุณจำเป็นต้องยอมรับและอยู่กับมันอย่างเข้าใจเพราะภาวะนี้จะคงอยู่ไปจนกว่าคุณจะสามารถเรียนรู้ ยอมรับ ทำความเข้าใจเพื่อที่จะช่วยให้คุณสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้  

2. ระยะเวลาของภาวะสิ้นยินดีที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ซึ่งมันเป็นภาวะของจิตใจที่มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีในสมองและสาเหตุอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จากที่พบเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ที่ติดอยู่กับภาวะนี้นาน จะเป็นคนที่มีปมปัญหาชีวิต ซึ่งเกิดจากการผ่านประสบการณ์ที่ไม่ดีตั้งแต่ในวัยเด็ก มีปมขัดแย้งภายในใจ หรือมีบาดแผลทางใจในเรื่องราวที่เจ็บปวด บางคนถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการผิดหวังซ้ำ ๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ เป็นต้น หากเยียวยาแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาได้ถูกต้องเหมาะสมเราก็จะก้าวข้ามผ่านมันไปได้ง่ายขึ้น

3. หากคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ แล้วใช้ยารักษาอยู่ ขอให้คุณพูดคุยปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดหรือภาวะที่กำลังเผชิญอยู่ คุณหมออาจจะช่วยปรับยาและแนะนำแนวทางในการดูแลตนเองได้ดีขึ้น

4. ค่อย ๆ พาตัวเองกลับมาทำในสิ่งที่ชอบ  ให้ลองลิสต์หรือเขียนสิ่งที่คุณเคยทำแล้วมีความสุขลงในกระดาษ แล้วค่อย ๆ พาตัวเองกลับไปทำ หากสามารถทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว คนที่เรารักหรือผู้อื่นได้ด้วยจะช่วยเยียวยาได้มากทีเดียว

5. ตั้งเป้าหมายใหญ่แล้วย่อย ความผิดหวังซ้ำ ๆ ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตนเอง เป็นตัวฉุดรั้งที่อาจทำให้คุณกดดันตัวเอง หากคุณตั้งเป้าหมายชีวิตที่ใหญ่และอยากทำมันให้สำเร็จ คุณจำเป็นต้องย่อยเป้าหมายให้เล็กลง แล้วค่อย ๆ ทำไปทีละเป้าหมาย  เมื่อคุณทำเป้าหมายเล็ก ๆ ได้สำเร็จ คุณจะมีพลังใจในการทำเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น หมั่นฝึกชื่นชมและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ  เพื่อที่จะได้มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งดี ๆ เพื่อตัวเองต่อไปได้มากขึ้น

6. หาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ความรู้สึกว่างเปล่าหรือไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรนั้น มันมีความหมายและแสดงให้เราเห็นว่า ชีวิตของคนเราทุกคนล้วนมีคุณค่าและมีความหมาย คุณอาจจะรู้สึกสูญเสียตัวตนในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยหรือประสบการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต รู้สึกไม่ดีต่อตนเอง รู้สึกไร้ค่า จนไม่อยากมีชีวิตอยู่ การหาความหมายของการมีชีวิตอยู่นั้นสิ่งที่จีได้เรียนรู้แล้วช่วยให้จีมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้ มันคือการที่เราตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตนเอง เรามีศักยภาพอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและโลกใบนี้ การทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อผู้อื่นมันสามารถช่วยให้เราตระหนักรู้ถึงคุณค่าในตนเอง ลองออกไปทำกิจกรรมจิตอาสา หรือกิจกรรมช่วยเหลือสังคมบางอย่างที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นดู คุณอาจจะได้ค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่จะช่วยสะท้อนให้คุณเห็นความหมายหรือคุณค่าในชีวิตที่ยิ่งใหญ่ในใจตนเองได้

7. กำแพงใจหรือกลไกการป้องกันตัวเองจากความรู้สึกเจ็บปวด ส่วนใหญ่คนที่มีภาวะสิ้นยินดีนั้นมักจะผ่านประสบการณ์ในชีวิตที่เจ็บปวด มีปมขัดแย้งภายในใจ หรืออาจมีบาดแผลทางใจจนตัวเองมักจะสร้างกำแพงใจเพื่อป้องกันความรู้สึกด้านลบหรือสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการรับรู้ ไม่ต้องการที่จะให้ตัวเองเจ็บปวดจนเกินไป ซึ่งมันคือกลไกการป้องกันตัวของมนุษย์เรา หลังจากที่ผ่านความเจ็บปวดนั้นมาแล้วกำแพงใจนั้นก็ยังคงอยู่ และมันเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกดี ๆ ให้เข้าถึงใจเราเช่นกัน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราตกอยู่ในภาวะที่ไม่รับรู้ความรู้สึก การเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึกและการฝึกรักตัวเองช่วยให้จีสามารถสลายกำแพงใจนี้ลงได้

8. เยียวยาบำบัดจิตใจ หากคุณมีภาวะสิ้นยินดี ที่เป็นผลมาจากเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีตั้งแต่ในวัยเด็กจนโต จีขอแนะนำ การเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก นอกจากจะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกเจ็บปวดและความรู้สึกด้านลบที่เราได้เก็บกดเอาไว้ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวแล้ว ยังช่วยให้สามารถปลดล็อกปมปัญหาหรือความขัดแย้งในใจ และช่วยสลายกำแพงใจของตัวเราเองได้ สิ่งสำคัญจะช่วยให้คุณเรียนรู้ที่จะให้อภัยตนเอง มองเห็นคุณค่าในตนเอง รักและเมตตาตนเองได้มากขึ้น

9. เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ปรับเปลี่ยนความเชื่อหรือมุมมองทางความคิด (Mindset) ที่ทำให้เราไม่มีความสุขกับชีวิต หรือพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเอง รวมทั้งฝึกเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตที่มีความสุข สิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาได้เสมอ ซึ่งมันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในแบบของตัวเราเองได้มากขึ้น

10. ปรับสมดุลชีวิตและจิตใจใหม่ ลองคิดทบทวนดูว่าคุณใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบกดดันและสะสมความเครียดเรื้อรังมายาวนานแค่ไหนแล้ว จนมันส่งผลให้ทั้งร่างกายและจิตใจเจ็บป่วย รวมทั้งทำให้ชีวิตเสียศูนย์ ลองสำรวจดูว่าชีวิตด้านไหนของคุณขาดสมดุลบ้าง แล้วเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลให้ชีวิตใหม่ สำหรับจีแล้วการเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าหรือแม้แต่โรคทางกายทางใจอื่น ๆ จีไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่เพียงความเจ็บป่วย แต่มันคือสัญญาณเตือนของชีวิตที่ส่งมาเตือนเราว่าให้เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตใหม่ เพราะการใช้ชีวิตในแบบเดิมนั้นมันส่งผลให้เราเจ็บป่วยและไม่มีความสุขกับชีวิตในแบบที่มันควรจะเป็น ดังนั้นมันก็ถึงเวลาแล้วที่เราควรฝึกเรียนรู้ที่จะเยียวยาและพัฒนาตนเอง เพื่อปรับสมดุลทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ จีได้รับรู้แล้วว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้น มันสั่นสะเทือนถึงจิตวิญญาณและการมีชีวิตอยู่

หากคุณกำลังเผชิญอยู่กับ “ภาวะสิ้นยินดี” (Anhedonia) ขอให้เข้ารับการรักษาและการเยียวยาบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งฝึกเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น จีขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล : www.pobpad.com, Rama Chanel

All Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : มาฝึกรักตัวเองกัน How To Love Yourself?

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here