โรคซึมเศร้า

“โรคซึมเศร้า” เปรียบเสมือน “ภัยเงียบ” ที่กำลังคุกคามชีวิตและจิตใจผู้คนไปทั่วโลก ประชากรกว่า 350  ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนในประเทศไทยนั้นจากสถิติล่าสุดที่พบจากกรมสุขภาพจิต คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ  1.5  ล้านคน โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางใจที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาหรือมีเครื่องมือใดมาวัดค่าความเจ็บป่วยนั้นได้ จึงทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบไม่ค่อยรู้ตัวหรือรู้ก็ต่อเมื่ออาการรุนแรงแล้วจึงได้เข้ารับการรักษา ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ต่อคนในครอบครัวและสังคมได้เป็นอย่างมาก จีนำ 9 สัญญาณ เตือนภัยเงียบ “โรคซึมเศร้า” มาแชร์เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้เช็คตัวเองกันค่ะ

โรคซึมเศร้า

9 สัญญาณ เตือนภัยเงียบ “โรคซึมเศร้า”

1. รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ เครียด หงุดหงิด เศร้า ไม่ร่าเริงหรือสนุกสนานเหมือนเดิม

2. หมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำแล้วสนุก มีความสุข รู้สึกไม่อยาก จะทำอะไร ไม่อยากเจอใคร

3. รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก (หรือบางคนกินมาก เพื่อให้หายเครียดจนน้ำหนักเพิ่มขึ้น)

4. นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรืออาจตื่นเร็วกว่าเดิม  2-3 ชั่วโมง แล้วนอนต่ออีกไม่ได้ (บางคนนอนมากเกินไป เนื่องจากไม่อยากทำอะไร นอนแต่ก็ไม่หลับ)

5. รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยหน่าย ไม่มีเรี่ยวแรง

6. มีความคิดที่ช้าลง การเคลื่อนไหวช้าลง

7. ไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า โฟกัสอะไรไม่ค่อยได้ ความจำไม่ดี ลังเล สับสน ตัดสินใจลำบาก

8. รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า รู้สึกผิด รู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง โทษหรือตำหนิตัวเอง

9. มีความคิดอยากตายและฆ่าตัวตาย

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหากคุณพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้หรือมีสัญญาณเตือน 5 ข้อขึ้นไปและมีข้อท้าย ๆ โดยเฉพาะหากมีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรือฆ่าตัวตาย ควรไปพบจิตแพทย์ ด่วน! (สำหรับผู้ที่ต้องการทำแบบประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้าออนไลน์  กดที่ลิงค์นี้นะคะ >>> แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ9)

โรคซึมเศร้า

ข้อแนะนำ เมื่อพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า

1. “โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่คาดเดาเอาเองได้” การที่จะรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน

2. ปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองใหม่ หากคุณยังคิดว่าการไปพบจิตแพทย์เดี๋ยวคนอื่นจะมองว่าเป็น “บ้า” หรือเป็น “โรคจิต” เพราะทัศคติที่ผิดหรือความคิดที่บิดเบือนเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายเข้าไม่ถึงการรักษาหรือไม่ยอมเข้ารับการรักษา ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อชีวิตผู้ป่วยและครอบครัว รวมไปถึงปัญหาในสังคมมากมาย

3. ในกรณีที่ยังไม่กล้าไปพบจิตแพทย์หรือมีความเครียด กลัว วิตกกังวลไม่รู้จะขอคำแนะนำจากใครสามารถโทรไปที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323

4. หากกลัวว่าจะต้องรักษาด้วยยาเพราะเคยอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาแล้วทำให้กลัวและไม่อยากกินยา เราสามารถพูดคุยกับจิตแพทย์ก่อนได้ ถ้าหากเราป่วยแล้วยังอยู่ในช่วงอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลางก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาก็ได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจิตแพทย์และระดับอาการของคุณ รวมทั้งสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย

5. อย่ารอให้เสียฟังก์ชั่นในการใช้ชีวิตหรือรอให้อาการรุนแรงก่อน แล้วค่อยตัดสินใจไปพบจิตแพทย์เพราะมันจะก่อให้เกิดผลเสียหรือผลกระทบต่อชีวิตคุณเองได้เป็นอย่างมากขอให้คุณไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ หากป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ จะได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที แต่ถ้าหากไม่ได้ป่วยคุณก็จะได้สบายใจและกลับมาดูแลกายใจตัวเองให้สมดุล เพื่อให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า

6. พบจิตแพทย์ที่ไหนดี? ควรไปโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ระบุว่ามีแผนกจิตเวชและมีจิตแพทย์ประจำอยู่ ซึ่งควรเลือกที่คุณสามารถเดินทางสะดวกหรืออยู่ใกล้บ้าน เพราะถ้าหากคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ จะได้สะดวกต่อการรักษา เนื่องจากถ้าต้องรักษาด้วยยาคุณหมอจะนัดหมายและประเมินอาการช่วงแรกบ่อย

7. แบบประเมินความเสี่ยงโรคซึมเศร้าออนไลน์ หรือ 9 สัญญาณ เตือนภัยเงียบ “โรคซึมเศร้า” เป็นเพียงการประเมินความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ไม่อาจตัดสินหรือวินิจฉัยได้ว่าคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ จิตแพทย์เท่านั้นที่จะวินิจฉัยแล้วบอกคุณได้ว่า คุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

หากคุณพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วยังไม่สามารถตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ได้ ต้องการคำแนะนำหรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแชทพูดคุยกันทางไลน์ได้ หรือสามารถใช้ บริการโทรรับฟังด้วยใจ ซึ่งจะช่วยแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเอง ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเบื้องต้น เพื่อที่คุณจะได้สามารถรับมือและจัดการกับสิ่งที่กำลังเผชิญได้ดีขึ้นค่ะ

เพิ่มเพื่อน

All Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : จะรับมืออย่างไร? เมื่อต้องใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here