ทำไมกินยารักษาโรคซึมเศร้ามาตั้งนานแล้วไม่หายเสียที? เมื่อไหร่ถึงจะหยุดกินยารักษาโรคซึมเศร้าได้? รู้สึกดีขึ้นแล้ว เหมือนจะหายแล้วแต่ทำไมคุณหมอถึงบอกว่าให้กินยาต่อไปอีก? บ่อยครั้งที่เพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทักเข้ามาพูดคุยกับจีทางเพจแล้วมักจะถามคำถามเหล่านี้ จนเรียกได้ว่าเป็นคำถามที่พบบ่อยและต้องอธิบายกันยาวเพราะสาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลให้เพื่อน ๆ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นแตกต่างกันไป และหลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจในโรคซึมเศร้า ไม่เข้าใจแนวทางในการรักษาและการเยียวยาบำบัดจึงทำให้การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้านั้นไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ได้ผลดีอย่างที่มันควรจะเป็น จีนำ 9 สาเหตุ ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องกินยายาวนานแล้วหลายคนก็ยังไม่หายป่วยเสียทีมาฝากให้เพื่อน ๆ ได้ตระหนักรู้ถึงปัจจัยหรือสาเหตุที่แท้จริงกัน ซึ่งจีรวบรวมมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเองและเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ามาพูดคุยแชร์ประสบการณ์กันตั้งแต่จีเคยป่วยจนถึงปัจจุบันค่ะ
9 สาเหตุ ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องกินยายาวนาน
1. ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์
ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยได้เคยกล่าวไว้ว่าพันธุกรรมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ บุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้สูงกว่าผู้อื่น คือ คนที่มีพ่อ แม่หรือญาติพี่น้องทางสายเลือดเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือทางยีนส์ได้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องนี้อาจจำเป็นต้องใช้ยารักษา เพื่อควบคุมอาการที่ยาวนานกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้มีปัจจัยทางด้านนี้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : สาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้าคืออะไร?
2. เป็นโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง
โรคซึมเศร้านั้นมีหลายชนิดและหลายระดับอาการที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน บางคนมีอาการในระดับเล็กน้อย บางคนป่วยแบบเฉียบพลันซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยกระตุ้นเนื่องจากการสูญเสียบุคคลที่รัก อกหักหรือมีความเครียดกับปัญหาชีวิตบางอย่าง เมื่อกินยารักษาเพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ปรับความคิดและพฤติกรรมบางอย่างให้สมดุลได้ก็สามารถหายป่วยได้เร็วไม่ต้องกินยารักษานาน แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังนั้น มีปัจจัยหรือสาเหตุของความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง โดยเฉพาะคนที่เคยป่วยมาแล้วครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งจำเป็นต้องกินยาเพื่อควบคุมอาการกลับมากำเริบยาวนานขึ้นระยะเวลาขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เคยป่วย ซึ่งแต่ละคนก็จะใช้ระยะเวลาในการกินยาและการรักษาไม่เท่ากันตามแต่เหตุและปัจจัย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องกินยานานแค่ไหน?
3. ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาบำบัด
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจในโรคซึมเศร้าจะเสียเวลาในการรักษาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และกินยารักษายาวนานเกินจำเป็น จีเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องยาและการรักษาบำบัดที่ถูกต้องเหมาะสม จึงไม่กินยาตามที่คุณหมอแนะนำและไม่ยอมไปพบคุณหมอตามนัดอย่างต่อเนื่อง ชอบปรับลดหรือเพิ่มยาเองตามอำเภอใจหรือหยุดยาเองโดยที่ไม่ได้ปรึกษาคุณหมอ จึงต้องเริ่มนับหนึ่งเพื่อปรับยาและรักษากันใหม่หรือไม่ก็เกิดการดื้อยา อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ทำให้การรักษานั้นยากและซับซ้อนขึ้นเลยทำให้ต้องกินยายาวนานขึ้นอีกด้วย บางคนคุณหมอแนะนำว่าต้องได้รับการบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา แต่ก็ไม่ยอมที่จะเต็มใจบำบัดจึงต้องใช้ยาเพื่อควบคุมอาการไปเรื่อย ๆ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : อุทธาหรณ์หยุดยารักษาโรคซึมเศร้าเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ
4. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้
ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ป่วยและกินยารักษาโรคซึมเศร้ามายาวนานหลายปี จะยอมรับว่าตัวเองมักจะพึ่งยาพึ่งหมอเกินจำเป็น และมีทัศนคติหรือความคิดที่ว่ามีเพียงยาและหมอเท่านั้นที่จะช่วยทำให้ตัวเองดีขึ้นแล้วหายได้ โดยที่ยังไม่ได้ตระหนักรู้ว่า การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก นั้นยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้อาการดีขึ้นและหายป่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องกินยาไปตลอด ซึ่งเมื่อคุณหมอเห็นว่าเป็นเช่นนั้นจึงจำเป็นต้องให้กินยาไปเรื่อย ๆ เพื่อควบคุมอาการกำเริบและผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อีกแบบหนึ่งที่พบก็คือ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็นผู้สูงอายุแล้วซึ่งอาจจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ถ้าอยากหายป่วยจากโรคซึมเศร้าอย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ
5. ผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาบำบัดที่ถูกต้องและเหมาะสม
เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่เคยพูดคุยกับจีว่าได้เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลรัฐ หรือสถานพยาบาลที่ไม่มีการให้บริการในการเยียวยาบำบัด จึงไม่เคยได้รับการเยียวยาบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ทั้ง ๆ ที่กินยามายาวนานและยังไม่หายป่วยเพราะพบปัจจัยด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านจิตใจหรือจิตสังคมเหมือนกับจีที่ต้องกินยามายาวนานในการป่วยครั้งแรกถึงประมาณ 5 ปี และบางคนอาจไม่มีปัจจัยในการใช้จ่ายเพื่อมองหาการเยียวยาบำบัดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเอง รวมทั้งขาดความรู้ความเข้าใจในการเยียวยาบำบัดด้วย ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้รับการเยียวยาบำบัด หรือเยียวยาแก้ไขปัจจัยที่เป็นต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าอย่างแท้จริง จึงต้องกินยารักษาแบบนั้นไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะหยุดยาและหายป่วยได้
6. เยียวยาแก้ไขหรือรักษาบำบัดไม่ถูกจุด
มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่ทักเข้ามพูดคุยกับจีทางเพจ แล้วเล่าให้ฟังถึงความพยายามที่จะค้นหาการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก แต่ไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเองหลายวิธีก็ไม่สามารถหายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้เพราะเน้นไปกับการรักษาทางสมองและร่างกายมากกว่าการเยียวยาบำบัดจิตใจ จึงทำให้ต้นตอหรือสาเหตุที่เกี่ยวข้องและส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจนั้นยังคงอยู่จึงไม่อาจหายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้ สาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่พบบ่อยแต่หลายคนมองข้าม เช่น ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low Self-esteem) มีบุคลิกภาพเพอร์เฟกชั่นนิสต์ (Perfectionist) หรือมีนิสัยสุดโต่ง มีปัญหาครอบครัวและปัญหาความรักความสัมพันธ์ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยเครียดเรื้อรัง มีปมปัญหาขัดแย้งภายในใจจนส่งผลต่อจิตใต้สำนึก มีความคิดหรือพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจ เป็นต้น ถ้าเพื่อน ๆ ต้องการลดการใช้ยาและสามารถหายป่วยจากโรคซึมเศร้า รวมทั้งป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้ เราควรเยียวยาแก้ไขสาเหตุปัจจัยเหล่านี้ด้วยเพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้า (เพื่อลดยาและหยุดยา)
7. ผู้ป่วยที่มีภาวะความกดดันจากคนในครอบครัวและไม่สนับสนุนการรักษา
หลายคนมาแชร์ให้ฟังว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วก็พยายามที่จะเข้ารับการรักษาด้วยยาหาหนทางที่จะช่วยให้ตัวเองหายป่วยจากโรคซึมเศร้าให้ได้ แต่รู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้าและสิ้นหวังเกือบจะถอดใจหลายครั้งเพราะครอบครัวที่ไม่สนับสนุนการรักษา บอกไม่ได้ป่วยเป็นอะไร คิดไปเอง ไม่เห็นต้องกินยาหรือต้องรักษาบำบัดอะไร และได้รับความกดดันจากปัญหาทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันภายในครอบครัวที่สร้างความเครียดเรื้อรัง จนส่งให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านจิตใจ บ่อยครั้งที่พวกเขามีความคิดจะหยุดการรักษาและลาจากโลกนี้ไป แต่ก็ยังเป็นห่วงครอบครัวและพยายามที่จะฝึกรับมือและจัดการกับความเครียดความกดดัน รวมทั้งพยายามที่จะฝึกปรับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและความเข้าใจหรืออาศัยผู้เชี่ยวชาญในการเยียวยาบำบัดแบบครอบครัวและหลายคนก็เข้าไม่ถึงการเยียวยาบำบัดแบบนี้ สิ่งที่ช่วยให้พวกเขาสู้กับโรคได้ก็คือการกินยาประคับประคองตัวเองไปแบบนั้นต่อ
8. ผู้โรคซึมเศร้าที่มีโรคทางกายร่วมด้วย
จากการได้พูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายจีได้พบผู้ป่วยบางคนมีโรคทางกายร่วมด้วยจนส่งผลให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยมีโรคทางกายเรื้อรังบางรายอาจได้รับยารักษาโรคซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของคุณหมอที่รักษาอาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากอาการเจ็บป่วยทางกายเรื้อรังส่งผลต่อสภาวะจิตใจของผู้ป่วย หรือเป็นไปได้ว่ามี ยาบางตัวอาจส่งผลก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า (มีงานวิจัยหลายอย่างที่ค้นพบว่ายารักษาโรคทางกายบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้) จึงจำเป็นต้องกินทั้งยารักษาโรคทางกายและยารักษาโรคซึมเศร้าควบคู่ไปด้วยอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยบางคนต้องกินยาแบบนี้ควบคู่กันไปโดยยังไม่สามารถหยุดยารักษาโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากอาการทางร่างกายยังแย่และจิตใจอยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเราสามารถสอบถามคุณหมอได้โดยตรงหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาทั้งเรื่องยารักษาโรคทางกายและยารักษาโรคซึมเศร้าที่เราอาจได้รับ
9. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ใส่ใจโฟกัสการรักษาบำบัดอย่างจริงจัง
ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังที่ยังสามารถเรียนหรือทำงานได้ใช้ชีวิตได้บางช่วงที่เป็นปกติ แต่อาจจะมีปัญหาบางช่วงที่เกิดจากความเครียดความกดดันเข้ามากระตุ้นอาการให้ดิ่งเป็นช่วง ๆ เนื่องจากอาการไม่ได้รุนแรงและเป็นอาการแฝงที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากกว่าการกินยาไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก อาการหนักก็ค่อยหาวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไป หรือบางคนก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังมีปัญหาบางอย่างที่ควรได้รับการเยียวยาแก้ไข ซึ่งก็พบได้เป็นจำนวนมากแล้วก็วนลูปของโรคซึมเศร้าอยู่แบบนั้นและยังคงต้องกินยาเพื่อควบคุมอาการต่อไปอีก
จีหวังว่าบทความ 9 สาเหตุ ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องกินยายาวนาน นี้จะเป็นประโยชน์ช่วยให้หลายคนได้ตระหนักรู้และคลายความสงสัยที่ว่า ทำไมตัวเองต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้ายาวนานแล้วยังไม่หายเสียทีหรือทำไมยังไม่สามารถหยุดยารักษาได้ และน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่กำลังเริ่มต้นรักษาด้วยยาอยู่ด้วยเช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : โรคซึมเศร้าเรื้อรัง พร้อมการเยียวยาบำบัดที่ได้ผลดี
