ช่วงนี้ “จิตตก” บ่อยมากทำยังไงดี? หลายคนไม่ค่อยรู้ตัวว่าตัวเองนั้นสะสมความเครียดเรื้อรัง และเก็บกดสะสมอารมณ์ความรู้สึกด้านลบเอาไว้ จนมักจะทำให้ตัวเองจิตตกง่าย มีความกลัว วิตกกังวลมากเกินไปจนเสียสุขภาพจิต หรือส่งผลก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่รู้สึกว่าร่างกายและจิตใจเราอ่อนแรง เหนื่อยล้า หมดพลังหรือจิตตก จากการใช้ชีวิตในภาวะที่กดดันหรือมีความเครียดเรื้อรังมายวนาน เราสามารถประคับประคองและดูแลเยียวยากายใจตัวเองเบื้องต้นได้ จีนำแนวทางหรือ How To ในการดูแลเยียวยากายใจในช่วง”จิตตก” ที่จีได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการรับมือแล้วพาตัวเองก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาจิตตก ยกระดับจิตตัวเองให้ดีขึ้นได้มาฝากกันค่ะ
How To ดูแลเยียวยากายใจในช่วง “จิตตก”
1. งดเสพข่าวร้าย ๆ ลบ ๆ หยุดฟังเพลงเศร้า งดดูละครดราม่า หรือภาพยนตร์สยองขวัญ เพราะมันส่งผลเสียต่อ จิตใต้สำนึก ของเราได้เป็นอย่างมาก เราให้ความสำคัญกับร่างกายเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรง ถ้าเราอยากให้ร่างกายแข็งแรง เราก็เลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ดังคำกล่าวที่ว่า “เรากินอะไร เราก็จะได้อย่างนั้น” จิตใจก็เช่นเดียวกัน “เราเสพสื่ออะไร รับข้อมูลแบบใด จิตใจเราก็ได้รับแบบนั้น” เพราะฉะนั้นเราควรเลือกรับข้อมูลที่ดีมีประโยชน์ดีต่อจิตใจเราจะดีกว่า
2. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กดดันหรือซับซ้อน (หากเป็นไปได้) แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ฝึกเรียนรู้วิธีรับมือและจัดการกับความเครียด ความกังวลของตัวเอง เราจะได้ประคับประคองตัวเองได้ดีขึ้น ช่วงเวลาที่เราจิตตก สิ่งสำคัญคือเราควรหันกลับมาดูแลเยียวยาใส่ใจตัวเราเองให้มากที่สุด บ่อยครั้งที่พบว่าหลายคนจิตตกเพราะเรื่องของผู้อื่น การช่วยเหลือและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าลืมว่าถ้าหากกายใจเราไม่ดีไม่มีพลังมากพอ ถ้าหากเรายังสนใจแต่คนอื่น นอกจากเราจะช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้แล้ว ตัวเราเองก็จะย่ำแย่ไปด้วย
3. หาวิธีระบายอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบอย่างถูกต้องเหมาะสม หลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าสะสมอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบไว้มากมาย มีมุมมองทางความคิดที่อาจบิดเบือน หรือมี รูปแบบทางความคิด ที่มักจะสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองอยู่เสมอ แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาได้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ คือ หาวิธีการระบายออกที่ดี เพราะอารมณ์ความรู้สึกที่เรามักจะเก็บกดเอาไว้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว มักจะท่วมท้นออกมาและทำให้เรารู้สึกรับมือได้ยาก เพราะฉะนั้นต้องระบายมันออกไปบ้าง
4. ปรับสมดุลกายใจของตัวเราเอง ร่างกายและจิตใจสัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ขาด การใช้ชีวิตของคนเราในปัจจุบันส่วนใหญ่จะสะสมความเครียดเรื้อรังและขาดการดูแลตัวเองที่ดี ช่วงเวลาที่เราจิตตกจะส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอารมณ์ที่แปรปรวน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การนอน และการใช้ชีวิตในทุกด้าน อย่าปล่อยให้เสียฟังก์ชั่นในการใช้ชีวิตนานเกินไป เพราะอาจส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยทางกายทางใจตามมาได้ ควรหันกลับมาปรับสมดุลกายใจตัวเราเอง
- ช่วงจิตตกอาจรบกวนการนอนของเรา ทำให้นอนหลับไม่ดี หรือคุณอาจจะนอนดึกเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ หากคุณภาพการนอนไม่ดี สารเคมีในสมองเสียสมดุล ส่งผลต่อระบบสมอง อารมณ์จะแปรปรวน หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ขาดสมาธิ และจิตตกง่าย ลองปรับเวลาเข้านอนให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะนอนหลับได้เพียงพอ การนอนที่มีคุณภาพ จะช่วยส่งเสริมให้ร่างกาย สมองและจิตใจเราเยียวยาฟื้นฟูได้ดีขึ้น
- ออกกำลังกาย คือยาวิเศษเยียวยากายใจได้ดีมาก ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ช่วยให้สมองหลั่งสารเคมีได้สมดุล นอกจากช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงกระปรี้กระเปร่าแล้ว ยังช่วยให้อารมณ์เราดีขึ้นได้อีกด้วย
- กินอาหารหรือวิตามินบำรุงสมอง อาหารส่งผลต่ออารมณ์ของคนเราได้มากทีเดียว ช่วงจิตตกควรหันกลับมาดูแลใส่ใจตัวเอง ช่วงเวลาที่เราอยู่ในภาวะเครียด วิตกกังวล อาจทำให้เรารู้สึกไม่อยากอาหาร ขอแนะนำวิตามินบีรวมและวิตามินซี ซึ่งจำเป็นต่อร่างกายและมันไม่สามารถสะสมในร่างกายได้ ยิ่งเราเครียด วิตกกังวลจนจิตตกยิ่งต้องบำรุงสมอง บำรุงร่างกายเราด้วยการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ และอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายต้องการ การจิบน้ำบ่อย ๆ จะช่วยให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่าและสดชื่นได้มากขึ้นด้วย
- ฝึกผ่อนคลายตัวเองให้มากขึ้น ความผ่อนคลาย คือ กุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเยียวยา คนที่เครียดเรื้อรังส่วนใหญ่จะไม่สามารถผ่อนคลายตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น ระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นตลอด การผ่อนคลายตัวเองนั้นมีหลากหลายรูปแบบ สิ่งง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้และช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้ในทันทีคือ การปรับลมหายใจให้ถูกต้อง คนที่เครียดหรือกังวลนั้น มักจะหายใจสั้นหรือหายใจไม่เต็มปอด เลยทำให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองและร่างกายได้น้อย จึงทำให้เครียด กังวลและจิตตกได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีวิธีช่วยให้เราผ่อนคลายตัวเองได้อีกมากมายหลายวิธี เช่น ฟังเพลงบรรเลงผ่อนคลาย ระบายสี Mandala ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ทำกิจกรรมที่เราชอบหรือทำให้เรามีความสุข เป็นต้น
5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ ถ้าหากพยายามด้วยตัวเองแล้วยังรู้สึกไม่ดีขึ้น ก็ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่มีประสบการณ์ที่เราไว้ใจนะคะ
หากคุณกำลังรู้สึกว่าตัวเองจิตตก ก็สามารถลองนำแนวทาง How To ดูแลเยียวยากายใจในช่วง “จิตตก” ไปปรับใช้เพื่อยกระดับจิต ปรับอารมณ์ความรู้สึกตัวเองให้ดีขึ้น สมดุลขึ้น เราจะได้มีพลังกาย พลังใจในการใช้ชีวิตได้มากขึ้นนะคะ ดีกว่าปล่อยให้ตัวเองจิตตกและวนลูปอยู่แบบเดิม ยิ่งจะทำให้สถานการแย่ลงไป และถ้าหากต้องการใช้บริการโทรปรึกษาของเราสามารถแอดไลน์ทักแชทมาคุยกันได้ค่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : 10 ข้อคิด เพื่อชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้น | GMinds