เคยรู้สึกเบื่อหน่ายกับการกินยารักษาโรคซึมเศร้าบ้างไหม? มีเพื่อน ๆ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะถามจีอยู่บ่อย ๆ เพราะกำลังรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้กับการกินยารักษาโรคซึมเศร้าแล้วพยายามหาวิธีรักษาบำบัดทางเลือก หรือบางคนก็กำลังคิดจะหยุดยาเอง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องกินยานานแค่ไหน? อีกหนึ่งปัญหาคาใจที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยากรู้และมักจะถามกันอยู่เสมอ เพราะความทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของยาและความเบื่อหน่ายในการกินยาที่ยาวนานแบบไม่รู้จุดหมายปลายทาง จีนำข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จีติดตามเพจในตอนที่ปวยเป็นโรคซึมเศร้ามาฝากเพื่อน ๆ เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจประเมินระยะเวลาในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าของตัวเองได้มากขึ้น
ในตอนที่จีป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและรักษาด้วยยาอย่างเดียวในช่วง 5 ปีแรก ทำให้จีรู้สึกเข็ดขยาดในการกินยา โดยเฉพาะในช่วงปรับยาที่เพิ่งเริมต้นกินยาใหม่ ผลข้างเคียงของยาที่รุนแรงกับยารักษาโรคซึมเศร้าแบบเก่าที่มีมากกว่ายารักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน และการกินยาไม่ต่อเนื่อง ไม่มีวินัยในการกินยาตามที่คุณหมอแนะนำ ชอบปรับเพิ่ม ลดยาเอง และเคยหยุดยาเอง มันจึงทำให้จีมีความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในฝันร้าย
เมื่อจีกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้ง มันจึงทำให้จีปฏิเสธการรักษาด้วยยาในตอนแรก แต่สุดท้ายก็ต้องตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยยาอีกครั้งเพราะอาการเริ่มรุนแรงแล้ว ตอนนั้นจีเองก็เคยถามจิตแพทย์เหมือนกันว่า ต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้าไปนานแค่ไหน? ได้รับคำตอบว่าอย่างน้อยควรกินยาและดูอาการ ไปประมาณ 6 เดือนก่อนแล้วค่อยคุยกันใหม่ในเรื่องนี้ ปรากฎว่า 6 เดือนผ่านไปคุณหมอก็ยังให้กินยาต่อโดยไม่มีคำตอบว่าจีจะต้องกินยาไปอีกนานแค่ไหน
ความทุกข์ทรมานกับผลข้างเคียงและความรู้สึกที่ไม่เป็นตัวของตัวเองใช้ชีวิตแบบเบลอ ๆ มายาวนานมันทำให้จีค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องระยะเวลาการกินยารักษาโรคซึมเศร้า และจีก็พยายามหาวิธีการรักษาบำบัดทางเลือกควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาเพื่อที่จะช่วยให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วจีก็ได้ค้นพบข้อมูล จากเพจคลีนิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาในการการกินยารักษาโรคซึมเศร้าไว้ว่า
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เพิ่งป่วยเป็นครั้งแรก ระยะเวลาในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าเพื่อป้องกันการกำเริบจะอยู่ที่ ประมาณ 6-9 เดือน
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่กลับมาป่วยซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ระยะยเวลาในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าเพื่อป้องกันการกำเริบจะอยู่ที่ ประมาณ 12-24 เดือน
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่กลับมาป่วยซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ระยะเวลาในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าเพื่อป้องกันการกำเริบจะอยู่ที่ ประมาณ 5 ปีถึงตลอดชีวิต
คุณหมอเจษฎายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการกินยารักษาโรคซึมเศร้าไว้อีกว่า ระยะเวลาที่ควรกินยาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคซึมเศร้ากำเริบนั้น เริ่มนับหลังจากอาการซึมเศร้าดีขึ้นแล้ว บางครั้งแม้จะกินยาครบตามกำหนดแล้ว แต่ถ้าหากจิตแพทย์มองว่า ยังมีอารมณ์เศร้าหรือมีปัจจัยที่ยังทำให้เศร้าอยู่ อาจมีการขยายระยะเวลาต่อไปได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายเม้เป็นครั้งแรกก็อาจจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่อายุเกิน 60 ปี หรือผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายรุนแรง เป็นต้น
จากข้อมูลเรื่องระยะเวลาในการกินยารักษาโรคซึมเศร้านี้ จะเห็นได้ว่าระยะเวลาของการกินยารักษาโรคซึมเศร้านั้นไม่สามารถที่จะกำหนดระยะเวลาได้อย่างชัดเจนตายตัวได้ในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยตามที่คุณหมอเจษฎาได้ให้ข้อมูลไว้ ซึ่งหากเราต้องการรู้ว่าเราจะต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้านานแค่ไหน สิ่งที่จะช่วยให้เราประเมินระยะเวลาได้ ก็คือ เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วกี่ครั้ง แล้วสอบถามพูดคุยกับคุณหมอที่รักษาเราเพื่อจะช่วยประเมินระยะเวลาในการกินยา และสำรวจปัจจัยหรือตัวกระตุ้นอาการของเราเพื่อที่จะฝึกตระหนักรู้ รับมือและจัดการกับมันได้อย่างเหมาะสมรวมทั้งควรมองหาการบำบัดควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาด้วย
จากประสบการณ์ในการรักษาของจี ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่กลับมาป่วยซ้ำและไม่แน่ใจว่าจะนับครั้งยังไงเพราะไม่มีวินัยในการกินยาทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องแล้วหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ จีประเมินระยะเวลาในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าของตัวเองแล้วขออนุญาตคุณหมอหยุดยาหลังจากที่กินยามาได้ประมาณ 1 ปี เนื่องจากจีมีวินัยในการกินยาและพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และฝึกดูแลตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจสมดุลขึ้น รวมทั้งเข้ารับ การทำจิตบำบัด และได้รับ การเยียวยาบำบัดจิตใจ ซึ่งช่วยสนับสนุนการรักษาควบคู่กันด้วย ปัจจัยเหล่านี้สำคัญกับการรักษามากและเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่หลังจากที่จีหยุดยารักษาโรคซึมเศร้าแล้ว จียังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงที่จะกลับไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำอยู่หลายครั้ง เพราะยังใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สถานการณ์ชีวิตที่กดดันจากปัญหาชีวิตรอบด้านที่เกิดจากผลกระทบของโรคซึมเศร้าที่ผ่านมา และใช้เวลาในการฟื้นฟูเยียวยาสภาพร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของตัวเอง เนื่องจากในตอนนั้นจีมีโรควิตกกังวลและแพนิกร่วมด้วย อีกทั้งยังมีปัญหาด้านบุคลิกภาพ ซึ่งจีใช้เวลาในการเรียนรู้และมองหาการบำบัดจากนักจิตวิทยาและนักบำบัด แล้วฝึกเยียวยาบำบัดจิตใจตัวเองเพื่อช่วยสนับสนุนให้จีสามารถก้าวข้ามผ่านและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ โดยที่ไม่ต้องกลับไปใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าอีก
จีคิดว่า สิ่งสำคัญที่ช่วยให้สามารถหยุดยารักษาโรคซึมเศร้าได้ เนื่องมาจากการที่จีฝึกมีวินัยในการกินยาและพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และ ฝึกดูแลตัวเองเพื่อให้ร่างกายและจิตใจสมดุลขึ้น รวมทั้งการทำจิตบำบัดและการเยียวยาบำบัดที่เหมาะสมกับเรา ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาที่จะช่วยสนับสนุนให้การรักษาบำบัดโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพและได้ผลดีมากขึ้นค่ะ
ที่มา : คลีนิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>> 6 วิธีรับมือกับอาการข้างเคียงของยารักษาโรคซึมเศร้า
หากต้องการพูดคุยกับจีหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก สามารถแอดไลน์เพิ่มเพื่อนได้เลยค่ะ
|