โรคซึมเศร้า

จากประสบการณ์การก้าวข้ามผ่านความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าของตัวเองที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาของความเจ็บป่วยด้วยโรคทางใจนี้ที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาและเป็นการยากที่ผู้อื่นหรือผู้ที่ไม่ได้ป่วยจะเข้าใจ ความไม่เข้าใจในโรคซึมเศร้าสร้างผลกระทบและก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวจึงทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและยากลำบากมาก ในฐานะที่จีเป็นอดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและได้ทำหน้าที่ภารกิจของตัวเองตลอดมาตั้งแต่ป่วยจนถึงทุกวันนี้ ในการช่วยเหลือสนับสนุนและช่วยเยียวยาบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมาย รวมทั้งได้พูดคุยกับผู้ดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวของผู้ป่วยเองหรือผู้ใกล้ชิดที่เข้ามาพูดคุยปรึกษาและแชร์ประสบการณ์กัน จีขอนำ 10 ข้อแนะนำ สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ใกล้ชิด ที่ได้จากประสบการณ์มาแชร์เพื่อเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ทั้งผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ใกล้ชิดและตัวผู้ป่วยเองสามารถก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้เช่นกันค่ะ

โรคซึมเศร้า

10 ข้อแนะนำ สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ใกล้ชิด

1. “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่มีอยู่จริง เป็นโรคทางจิตเวชโรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความเจ็บป่วยทางใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนเราทุกคน ไม่ใช่โรคฮิตหรือคิดไปเอง มันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนในครอบครัวหรือคนรอบตัวของเรา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ทุกข์ใจกับความไม่เข้าใจของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้จักโรคซึมเศร้าหรือคิดว่าโรคนี้ไม่ได้มีอยู่จริง จึงไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหรือผู้ป่วยบางคนเข้ารับการรักษาแล้วแต่ไม่กล้าบอกคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเพราะความไม่เข้าใจทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากทั้งอาการของโรค ผลข้างเคียงของยา รวมทั้งยังต้องรับมือกับคำพูดและการกระทำของคนใกล้ชิดที่ไม่เข้าใจ

ขึ้นชื่อว่า “โรค” แล้ว นั่นหมายถึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสมถึงจะหายป่วยจากโรคได้ มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่เข้ามาพูดคุยแล้วบอกกับจีว่าคนในครอบครัวไม่สนับสนุนให้เข้ารับการรักษา ไม่สนับสนุนให้กินยาหรือไปพบจิตแพทย์แล้วบอกว่าผู้ป่วยคิดมาก คิดไปเอง บอกว่าอย่าคิดมากเดี๋ยวก็หายเองไม่ได้ป่วยเป็นอะไร ที่พบบ่อยจะเป็นเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่สามารถไปพบจิตแพทย์เองได้ จึงทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วเข้าไม่ถึงการรักษาและขาดการดูแลเอาใจใส่ ทำให้ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมายและปัญหาการฆ่าตัวตายก็มากขึ้น ดังนั้นหากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวมีภาวะซึมเศร้าหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ควรยอมรับความจริงแล้วสนับสนุนให้เขาเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องเหมาะสมก่อน

2. การไปพบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่า “บ้า” อีกปัญหาหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบันที่สมควรได้รับการเยียวยาแก้ไข คือ เรื่องทัศนคติที่มีต่อโรคซึมเศร้าและการไปพบจิตแพทย์ หลายคนยังมีความคิดว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์นั้นต้องเป็นคนบ้าหรือคนโรคจิตและมองว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นแบบนั้น ซึ่งมันสามารถสร้างตราบาปให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างมากและทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์หรือต้องปิดบังความเจ็บป่วยความทุกข์ทรมานนั้นไว้คนเดียว

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ยังมีทัศนคติแบบเดิมนี้ ขอให้คุณปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและช่วยลดตราบาปของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชลงได้ รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะแท้ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชก่อน แค่เรามีภาวะซึมเศร้า มีความเครียด ความกังวลซึ่งไม่สามารถจัดการเองได้ ก็สามารถที่จะไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาแนะนำหรือเข้ารับการรักษาบำบัดได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้ป่วยก่อน

3. ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวควรศึกษาข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพิ่มเติม รวมทั้งแนวทางในการรักษาเยียวยาบำบัดและการดูแลสนับสนุนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพื่อที่จะสามารถดูแลหรืออยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างเข้าใจ จะช่วยลดความเครียด ความกดดันที่มีต่อกันลงได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : รวมบทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การรักษาและการเยียวยาบำบัด

โรคซึมเศร้า

4. อย่าคาดหวังหรือแสดงความกดดันที่จะให้ผู้ป่วยดีขึ้นเร็ว ๆ หรือหายได้เร็ว ๆ เพราะโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานกว่า โรคทางกายทั่วไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องกินยานานแค่ไหน?

5. หากต้องการดูแล ช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้มีอาการดีขึ้นได้นั้น ควรเรียนรู้แนวทางในการดูแลเยียวยาฟื้นฟูผู้ป่วยและทำในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อน เช่น

  • ดูแลผู้ป่วยให้กินยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัดและไปพบคุณหมอตามนัดเสมอ
  • เปิดใจรับฟังผู้ป่วยด้วยใจ โดยไม่ตัดสิน
  • ใช้คำพูดที่สร้างกำลังใจ หลีกเลี่ยงคำพูดที่กดดันหรือคาดหวังต่อผู้ป่วยมากเกินไป
  • แสดงความรัก ความห่วงใยด้วยการกอด เพราะการกอดเป็นการเยียวยาผู้ป่วยอย่างหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและรู้สึกดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องพูดอะไร
  • เมื่อผู้ป่วยมีอาการทรงตัวแล้ว ค่อย ๆ เริ่มชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมง่าย ๆ ก่อน เช่น ชวนไปเดินเล่นในสวนสาธารณะหรือในที่ ๆ เป็นธรรมชาติ ออกกำลังกายเดินหรือวิ่งจ๊อกกิ้งเบา ๆ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ทำสวน ทำอาหารหรือวาดรูประบายสีเพื่อผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :

จิตวิทยาแห่งการกอด

7 การบำบัดโรคซึมเศร้าด้วยตัวเราเอง

6. ถ้าหากผู้ป่วยยังอาการไม่ทรงตัว อย่าเพิ่งแนะนำการเยียวยาบำบัดอื่น ๆ ควรรอให้ผู้ป่วยปรับยาได้อย่างเหมาะสม มีอาการทรงตัวหรือมีสติในการควบคุมตัวเองได้มากขึ้น จะช่วยให้การเยียวยาบำบัดทางเลือกอื่น ๆ มีประสิทธิภาพและได้ผลดีกว่า

7. กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง มีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายแล้วไม่สามารถรับมือและจัดการได้ ขอแนะนำว่าควรปรึกษาจิตแพทย์ที่รักษา และสามารถนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อแอดมิดหรือนอนโรงพยาบาลจะได้อยู่ในความดูแลของจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

8. หากต้องการหาแนวทางในการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือกที่เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือต้องการข้อมูลความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เพื่อที่จะได้เรียนรู้ในการรับมือและดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ควรพูดคุยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์จะได้ช่วยให้ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดเข้าใจผู้ป่วย เข้าใจโรคและลดความเครียด ความกดดันในการดูแลผู้ป่วยได้ รวมทั้งจะสามารถวางใจและรับมือจัดการได้ดีขึ้นอีกด้วย

9. อย่าลืมดูแลสุขภาพกายใจของตัวเอง ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยส่วนใหญ่ ต้องรับมือหรือเผชิญกับสถานการณ์ที่สามารถสร้างความเครียดและความกดดันได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางใจที่ไม่สามารถมองเห็นหรือเข้าใจได้ง่ายเหมือนโรคทางกาย เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์ที่ผิดปกติ ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรืออาการของตัวเองได้ โดยเฉพาะในช่วงที่อาการรุนแรง ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย คนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด ควรดูแลสุขภาพกายใจของตัวเองให้ดีด้วย รวมทั้งควรฝึกผ่อนคลายและจัดการความเครียด ความกังวลของตัวเองด้วยค่ะ เพราะเท่าที่คุยกับผู้ดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะมีความเครียด ความกดดันสูงจนหลายคนเกือบจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าไปด้วย

10. ปัญหาความรักความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งต่อการหายป่วยของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถหายป่วยได้เพราะยังมีความกดดันภายในครอบครัว มีการทะเลาะเบาะแว้ง มีความไม่เข้าใจกันและมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารกัน ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดส่วนใหญ่มักมองว่าผู้ป่วยมีปัญหา แต่ปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวนั้น คือ ปัญหาที่คนในครอบครัวมีร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนในครอบครัวด้วย จึงจะทำให้เราก้าวข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้

จีหวังว่า 10 ข้อแนะนำ สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้ใกล้ชิด นี้จะเป็นประโยชน์และสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจต่อผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนในครอบครัว ผู้ใกล้ชิดและตัวผู้ป่วยเองได้มากขึ้น ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าไปได้ด้วยดีนะคะ

All Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :

9 คำแนะนำ สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

แอดไลน์เพิ่มเพื่อนเพื่อพูดคุยแนวทางการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือกและบริการโทรรับฟังด้วยใจ

เพิ่มเพื่อน

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here