ปัจจุบันคนไทยเราเริ่มรู้จักและใส่ใจกับโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ให้ความสนใจค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมในเรื่องการรักษาโรคซึมเศร้าและการเยียวยาบำบัด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในโรคซึมเศร้าและทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น จีเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยพยายามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำความเข้าใจและค้นหาแนวทาง การรักษาโรคซึมเศร้าและการเยียวยาบำบัด ที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะการรักษาครั้งที่ผ่านมามันทำให้จีพบว่าการรักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จีจึงอยากแชร์ การรักษาโรคซึมเศร้าและการเยียวยาบำบัดที่ได้ผลดี ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำและการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือกที่จีได้ค้นพบเพื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ จะได้ไม่เสียเวลาหรือเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเกินจำเป็นเหมือนจี

การรักษาและการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าที่ได้ผลดี

1. การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา

เป็นการใช้ยารักษาจะช่วยปรับสารเคมีในสมองเพื่อควบคุมอารมณ์เศร้าให้กลับสู่ภาวะที่สมดุล ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ละคนก็จะใช้ระยะเวลาในการรักษาที่แตกต่างกันไป ยาที่ใช้ในการรักษาก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการ สาเหตุหรือปัจจัยร่วมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือเป็นตัวกระตุ้นอาการ หลังจากที่อาการดีขึ้นแล้วก็จำเป็นต้องกินยาควบคุมอาการต่อไปอีกเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ (คนที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว มักจะกลับมาป่วยซ้ำหรืออาจมีอาการกำเริบซ้ำ จึงถือว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับยาระยะยาว)

2. การรักษาโรคซึมเศร้าทางด้านจิตใจ

การรักษาโรคซึมเศร้าทางด้านจิตใจหรือจะเรียกว่าการเยียวยาบำบัดก็ได้ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ มักจะนิยมใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยปรับวิธีคิด ปรับทัศนคติเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกิดความเข้าใจในตนเอง เข้าใจปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้ตนเองเศร้าหรือทุกข์ใจ เพื่อนำไปสู่การเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม วิธีที่นิยมและพบว่าสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี คือ

  • การปรับความคิดและพฤติกรรม (CBT) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มักจะทุกข์ใจเพราะความคิดของตัวเอง เช่น มองโลกในแง่ลบ โทษตัวเอง มองตัวเองในแง่ไม่ดี เป็นต้น การรักษาแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดหรือทัศนคติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมทั้งปรับพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้านลบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น โดยการฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
  • การปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมและผู้อื่นได้ดีขึ้น
  • การทำจิตบำบัดเชิงลึก จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าใจปมขัดแย้งที่อยู่ภายในใจตนเองจนนำมาสู่โรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยาและการรักษาทางจิตใจ ทั้ง 2 วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่ได้การยอมรับจากทั่วโลกและนิยมใช้ในเมืองไทย โดยเฉพาะการรักษาด้วยยา แต่สำหรับจีแล้วการรักษาทั้งสองวิธีนั้นยังไม่ได้ผลและไม่สามารถช่วยให้จีหายป่วยได้จริง จีจึงได้ค้นหาวิธีการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก ซึ่งมีอยู่มากมายอีกหลายวิธีและมันช่วยให้จีหายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้จริง

การรักษาโรคซึมเศร้าทางเลือกที่จีรู้จักและอยากแนะนำเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีให้กับเพื่อน ๆ ที่ลองรักษามาทั้งสองวิธีดังกล่าวมาแล้วยังไม่หาย  เช่น การฝังเข็ม, การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยไฟฟ้า แบบ ECT  และแบบ TMS,  การออกกำลังกายบำบัดโรคซึมเศร้า (Exercise Therapy), การเจริญสติบำบัด (Mindfulness based therapy and couselling),  สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) เป็นต้น

เนื่องจากในช่วงเวลาที่จีเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา การรักษาและการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้ายังมีไม่มากนัก จีได้เข้ารับการรักษาด้วยยามาประมาณห้าปี แล้วหยุดยารักษาเองจึงทำให้จีกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำ พอเข้ารับการรักษาใหม่อีกครั้งจึงได้รับการทำจิตบำบัดแบบ CBT อย่างต่อเนื่อง จึงช่วยให้อาการดีขึ้นเป็นลำดับ

แต่ก็ยังไม่หายจนจีเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลโรคซึมเศร้าทางเลือก จีก็เลือกใช้วิธีการเจริญสติบำบัด ซึ่งก็ฝึกด้วยตัวเองตามหลักแนวพุทธ แล้วใช้การออกกำลังกาย ฟังดนตรีบรรเลงหรือคลื่นเสียงบำบัด การกินอาหารบำบัด และการปรับสมดุลร่างกาย รวมทั้งการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ จีเรียกการเยียวยาบำบัดนี้ว่าเป็นการเยียวยาบำบัดแบบองค์รวม และการเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าที่สำคัญที่จีขอแนะนำเพื่อน ๆ ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปมปัญหาภายในใจในวัยเด็ก มีบาดแผลทางใจหรือมีบุคลิกภาพที่สร้างปัญหาในการปรับตัวของเรา นั่นก็คือ การเยียวยาบำบัดจิตใต้สำนึก

การรักษาโรคซึมเศร้าและการเยียวยาบำบัดที่ได้ผลดี ดังกล่าวมานั้น ขึ้นอยู่กับอาการหรือระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยแต่ละคน และปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้ป่วย บางคนรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวก็สามารถหายได้ แต่บางคนต้องใช้การรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการรักษาทางด้านจิตใจ และบางคนก็จำเป็นต้องใช้การรักษาและการเยียวยาบำบัดทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์โรคซึมเศร้าของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปนั่นเอง

อ้างอิงข้อมูล : Ramamental

Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม >>> จิตใต้สำนึกคืออะไร? มีอิทธิพลกับชีวิตเราอย่างไร?

7 การบำบัดโรคซึมเศร้าที่ทำได้ด้วยตัวเราเอง

เพิ่มเพื่อน

2 COMMENTS

  1. […] การฝังเข็มช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้จริงไหม? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยโดยเฉพาะคนที่กำลังมองหาการรักษาบำบัดโรคซึมเศร้าทางเลือก เพราะเบื่อหน่าย ท้อแท้กับการกินยาและการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันที่ยาวนานแล้วไม่หายเสียที จีเองก็เคยสงสัยและสนใจการฝังเข็มบำบัดในตอนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่เคยได้มีโอกาสเข้ารับการฝังเข็มบำบัดโรคซึมเศร้าในตอนนั้นจนกระทั่งหายป่วยแล้ว จึงมีโอกาสได้เข้ารับการฝังเข็มบำบัดเพราะเริ่มมีอาการกลับมา จึงขอแชร์ประสบการณ์ในเรื่องการฝังเข็มบำบัดอาการซึมเศร้า เครียดและกังวลและผลพลอยได้อื่น ๆ นะคะ […]

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here