เนื่องจากมีเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมายที่ทักเข้ามาพูดคุยกับจีทางอินบ๊อกซ์เพจเยียวยารักษาใจ : Heal Your Mind by GG ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เข้ารับการรักษาด้วยยาแล้วรู้สึกมีความเครียด กลัว วิตกกังวลกับอาการของโรคและผลข้างเคียงของยา รวมทั้งไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร? ในช่วงเวลาที่ตัวเองเจ็บป่วยแล้วรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ ไม่รู้จะคุยกับใคร เพราะโรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชเป็นความเจ็บป่วยทางใจที่มีความละเอียดอ่อนและค่อนข้างเข้าใจได้ยาก อีกทั้งการรักษาบำบัดก็แตกต่างจากโรคทางกายทั่วไป จีจึงเขียนบทความนี้เพื่อเป็นแนวทางการรับมือและดูแลตัวเอง เมื่อต้องใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เพื่อก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานไปได้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาของการเริ่มต้นกินยาและปรับยาค่ะ
แนวทางการรับมือและดูแลตัวเอง เมื่อต้องใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า
1. เมื่อเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์และจำเป็นต้องใช้ยารักษาแล้ว ควรต้องกินยาตามที่คุณหมอแนะนำและไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินอาการและปรับยาให้เหมาะสม ไม่ควรปรับเพิ่มหรือลดยาตามใจตัวเอง และควรเรียนรู้เกี่ยวยารักษาโรคซึมเศร้าเพราะยาทางจิตเวชจะมีผลข้างเคียงและสามารถก่อให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้ การกินยาครั้งแรกจะมีอาการข้างเคียงของยาแต่ละตัวที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับยาแต่ละชนิดที่ใช้และปริมาณของยา โดยเฉพาะยาต้านเศร้า ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับยาเพื่อให้ยาออกฤทธิ์อย่างน้อยประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่คาดหวังว่าเมื่อกินยารักษาโรคซึมเศร้าแล้วอาการจะดีขึ้นได้เร็วเหมือนกินยาแก้ปวดแล้วก็จะหายปวด แต่ยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถ้าหากเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจเรื่องยารักษาโรคซึมเศร้าก็จะทำให้กลัวเพราะบางทีผลข้างเคียงของยาเหมือนทำให้อาการแย่ลง จึงไม่อยากกินยาต่อ
2. หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยารักษาโรคซึมเศร้าหรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ควรปรึกษาคุณหมอที่รักษาเราหรือผู้เชี่ยวชาญและกลับไปพบคุณหมอเพื่อที่จะช่วยปรับยาให้เหมาะสมกับเราได้
3. การปรับลดหรือเพิ่มปริมาณยาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอจะส่งผลให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรจะเป็น หรือถ้าหากยังไม่หายป่วยแล้วหยุดยาเองกะทันหันจะก่อให้เกิดอาการถอนยาและอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้ ถ้าหากต้องกลับไปใช้ยารักษาต่ออีกก็อาจจะทำให้เกิดอาการดื้อยาและเสียเวลาหากต้องเริ่มต้นรักษาเพื่อปรับเปลี่ยนยาใหม่ การรักษาก็จะยาวนานขึ้นและอาจจะซับซ้อนหรือยากขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากทุกข์ทรมานกับอาการถอนยาและอาการไม่พึงประสงค์ หรือไม่อยากเสียเวลาในการรักษาและเสียค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น เราก็จำเป็นต้องกินยาตามที่คุณหมอแนะนำนะคะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :
5 เคล็ดลับ ก้าวข้ามผ่านช่วงปรับยารักษาโรคซึมเศร้า
อุทธาหรณ์หยุดยารักษาโรคซึมเศร้าเอง โดยไม่ปรึกษาคุณหมอ
4. ความเจ็บป่วยทางใจ ไม่ว่าจะเป็น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตและจิตใจผู้ป่วยไปในทิศทางที่แย่ลง จิตใจของผู้ป่วยในช่วงแรกจะไม่สามารถยอมรับความจริงและไม่สามารถปรับตัวปรับใจได้ หากเราทำความเข้าใจกับจิตใจตัวเองและทำความเข้าใจกับโรคให้มากขึ้น จะช่วยให้เราสามารถยอมรับความจริงและอยู่กับโรคอย่างเข้าใจได้เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ทุกข์ทรมานกับอาการของโรคและผลข้างเคียงของยาเป็นอย่างมากจนรู้สึกว่าทนแทบไม่ไหวและอยากจะออกไปจากจุดนี้เร็ว ๆ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด วิตกกังวล กลัวและสับสน อยากจะหายป่วยเร็ว ๆ แต่ยิ่งอยากหาย ก็จะยิ่งไม่หายแล้วอาการจะยิ่งแย่ลง ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำใจยอมรับความจริงและให้เวลาตัวเองในการรักษาและเยียวยาบำบัดเพื่อให้อาการดีขึ้นเป็นลำดับก่อน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :
7 สิ่งที่คนมีโรคซึมเศร้าควรรตระหนักรู้
รู้เท่าทันใจตนเมื่อต้องเผชิญกับความเศร้า
5. เมื่อรักษาด้วยยาจนมีอาการทรงตัว มีสติมากขึ้นหรือรู้สึกว่าอารมณ์เริ่มคงที่มากขึ้นแล้ว ควรฝึกดูแลเยียวยาตัวเองในส่วนที่เราสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพและได้ผลดีขึ้น การเยียวยาบำบัดตัวเองมีมากมายหลายวิธี เช่น การออกกำลังกาย การฝึกปรับการนอนที่ดี การปรับการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์เพื่อช่วยลดอาการซึมเศร้า การฝึกผ่อนคลายตัวเองด้วยการฟังเพลงบรรเลง การฝึกสมาธิหรือสติบำบัด การวาดรูประบายสี หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น ลองเลือกวิธีที่เราสามารถทำได้แล้วค่อย ๆ เริ่มทำจากเล็ก ๆ ไม่กดดันตัวเองจนเกินไปแล้วทำให้ต่อเนื่องจะช่วยเยียวยากายใจเราได้ดีมาก ลองเริ่มต้นทำหลังจากที่อาการทรงตัวแล้วนะคะเพราะในช่วงเวลาที่อาการรุนแรงจะไม่ค่อยได้ผลดีเพราะเราจะยังไม่มีสติในการควบคุมอารมณ์ตัวเองและยังไม่มีพลังใจพอที่จะทำอะไรได้มากนัก ให้อดทนกินยารักษาไปก่อนอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :
4 สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องปรับแล้วอาการจะดีขึ้น
7 การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้าที่ทำได้ด้วยตนเอง
6. ถ้าหากเราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วมีปัจจัยหรือสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นคนมีพื้นอารมณ์เครียดง่าย ขี้วิตกกังวล มีบุคลิกภาพแบบเพอร์เฟกชั่นนิสต์หรือรักความสมบูรณ์แบบ สุดโต่ง มีโลกส่วนตัวสูง หรือมีโรคจิตเวชอื่น ๆ ร่วมกับโรคซึมเศร้าเหมือนกันกับจี ไม่ว่าจะเป็นโรควิตกกังวลหรือโรคแพนิก ก็จำเป็นต้องได้รับการทำจิตบำบัด หรือเลือกการเยียวยาบำบัดทางเลือกอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาด้วย จะช่วยให้การรักษาบำบัดนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจัยเหล่านี้ยาไม่ได้ช่วยให้เราดีขึ้นได้ หากเราอยากหายป่วยไม่อยากกินยาไปยาวนานเราก็จำเป็นต้องมองหาการเยียวยาบำบัดที่เหมาะสมค่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :
ยาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของโรคซึมเศร้า
การเยียวยาบำบัดโรคซึมเศร้า ที่ได้ผลดีที่สุด
7. การขาดสมดุลชีวิตทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย จิตใจและจิตสังคมสามารถส่งผลหรือก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว เราจำเป็นต้องปรับสมดุลทั้งสามด้านนี้เพื่อให้หายป่วยจากโรคและป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้อีกด้วย แต่ส่วนใหญ่เพื่อนผู้ป่วยมักจะใช้ยาอย่างเดียวซึ่งเน้นการรักษาที่ปลายเหตุหรือร่างกายเพียงส่วนเดียว ส่วนทางด้านจิตใจและจิตสังคมนั้นไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องกินยาเพื่อประคับประคองต่อไปและเพื่อควบคุมอาการกำเริบ จึงยังคงทำให้ไม่สามารถหยุดใช้ยารักษาได้ หรือบางคนสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤติชีวิต ไม่มีความกดดันใด ๆ มากระตุ้นอาการ อาการอาจจะดีขึ้นกินยาจนครบกำหนดที่หมอเห็นว่าสามารถหยุดยาได้แล้ว แต่พอมีปัจจัยกระตุ้นหรือเหตุการณ์มากระทบใจอีกก็สามารถกลับมาป่วยซ้ำได้อีกแล้วต้องกลับมาใช้ยารักษากันใหม่จนกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
สำหรับเพื่อน ๆ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่จำเป็นต้องใช้ยารักษา จีหวังว่า แนวทางการดูแลตนเองและรับมือกับโรคซึมเศร้า จะช่วยให้เพื่อน ๆ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานไปได้ดีขึ้นนะคะ หากต้องการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวข้ามผ่านโรคซึมเศร้าไปด้วยกัน สามารถเพิ่มเพื่อนทางไลน์ทักแชทมาพูดคุยกับจีได้นะคะ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : รวมบทความข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
[…] […]