ยารักษาโรคซึมเศร้า

จากประสบการณ์ความผิดพลาดในเรื่อง การรักษาโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะเรื่อง การกินยารักษาโรคซึมเศร้า ที่ผ่านมาของจีนั้น เนื่องจากจีขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคซึมเศร้าและการรักษาจึงทำให้ต้องเสียเวลารักษาตัวมายาวนาน การรักษาไม่ได้ผลดี หยุดยารักษาโรคซึมเศร้าได้แล้วก็ยังกลับมาเป็นซ้ำได้ในเวลาไม่นานจนต้องกลับมาเริ่มต้นกินยาใหม่อีก การกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าครั้งล่าสุด มันทำให้จีได้เรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งที่ผ่านมาแล้วหาข้อมูลความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม รวมทั้งปรึกษาจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมันทำให้จีสามารถวางแผนการรักษาและหยุดยาได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้และหายป่วยจากโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด จีจึงอยากแชร์ประสบการณ์ในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าให้ได้ผลดี เพื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ค่ะ

ยารักษาโรคซึมเศร้า

ข้อแนะนำในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าให้ได้ผลดี

1. กินยาตามที่จิตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดและมีวินัย

ยารักษาโรคซึมเศร้าแตกต่างจากยารักษาโรคทั่วไป ยาจะออกฤทธิ์และเห็นผลได้อย่างน้อยประมาณ 2-3 สัปดาห์ บางคนอาจจะรู้สึกว่ากินยาแล้วไม่เห็นดีขึ้นแล้วอาจจะหยุดยาเอง หรือเพิ่มลดยาเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็นและยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ตามมา อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการดื้อยา รวมทั้งต้องเสียเวลาในการเริ่มต้นปรับยารักษาใหม่ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่อยากเสียเวลาในการรักษาและทำให้การรักษายากขึ้น เราไม่ควรปรับยาเองโดยการเพิ่มหรือลดปริมาณยาเองหรือไม่ควรกิน ๆ หยุด ๆ กินบ้างไม่กินบ้างหรือหยุดยาเองอย่างเด็ดขาด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>>อุทธาหรณ์หยุดยารักษาโรคซึมเศร้าเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ

2. ทำความเข้าใจและฝึกรับมือกับผลข้างเคียงจากยารักษาโรคซึมเศร้า

ยารักษาโรคซึมเศร้าแต่ละตัวจะมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไปเช่น คลื่นไส้ เวียนหัว มึนงง  ท้องผูก กระสับกระส่าย เป็นต้น เราควรทำความเข้าใจกับผลข้างเคียงของยาให้เวลาในการรักษาและต้องใช้ความอดทนกับมัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนไม่ทราบว่ายามีผลข้างเคียง ทำให้ไม่เข้าใจและมักจะปรับยาเองหรือหยุดยาเอง ถ้าหากผลข้างเคียงรุนแรงเกินไปควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ซึ่งจิตแพทย์อาจจะช่วยปรับหรือเปลี่ยนยาให้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>>6 วิธีรับมือกับอาการข้างเคียงจากยารักษาโรคซึมเศร้า

3. กรณีกินยารักษาโรคซึมเศร้าแล้วเกิดอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากเกินไป

เช่น ง่วงซึม ไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้ตามปกติควรสอบถามจิตแพทย์ว่าสามารถปรับเปลี่ยนเวลากินยาเป็นกินก่อนนอนได้ไหม เป็นต้น ตอนที่จีรักษาอยู่ที่เมืองไทย ยาทำให้จีง่วงซึมและทำอะไรได้เชื่องช้ารบกวนการทำงานของจีมากแล้วจีไม่ได้ปรึกษาจิตแพทย์ในเรื่องนี้ ทนกินยาไปจนทนไม่ไหวเลยทำให้กินยาไม่ต่อเนื่องเพราะกลัวเสียงานทำให้อาการของจีไม่ดีขึ้นอย่างที่หวังไว้และท้อแท้ในการรักษา แต่พอการรักษาครั้งล่าสุดจีได้เรียนรู้ เมื่อได้รับยาตัวนึงที่ทำให้มีอาการคล้าย ๆ กันจีจึงกลับไปปรึกษาจิตแพทย์ เขาจึงแนะนำให้จีเปลี่ยนไปกินยานี้ก่อนนอนแทน

ยารักษาโรคซึมเศร้า

4. กินยารักษาโรคซึมเศร้าให้เป็นเวลา

การกินยารักษาโรคซึมเศร้าให้เป็นเวลาจะช่วยให้ร่างกายและสมองของเราคุ้นชินและช่วยสร้างวินัยในการกินยาให้กับเราได้ จีจะกินยาเวลาเดิมเป็นประจำมันช่วยให้จีไม่ลืมกินยาและช่วยให้ปรับยาได้เร็วขึ้น จีมีปัญหาเรื่องการตื่นนอนและรู้สึกเพลียไม่อยากตื่นเพราะฤทธิ์ยาที่กินก่อนนอนยังคงทำให้ง่วงอยู่จีจึงปรับเวลากินยาก่อนนอนให้เร็วขึ้น รวมทั้งฝึกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา หากใครมีปัญหาคล้าย ๆ กันก็ลองนำวิธีนี้ไปปรับใช้ดูนะคะ

5. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด

ในกรณีที่กินยารักษาโรคซึมเศร้าหรือยาทางจิตเวช ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติด เพราะมันจะมีผลกระทบกับการกินยารักษาโรคและเป็นตัวกระตุ้นอาการของเราให้รุนแรงขึ้นได้

6. กรณีที่ลืมกินยารักษาโรคซึมเศร้า

การกินยารักษาโรคซึมเศร้าต้องกินอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่ายารักษาโรคทั่วไป แล้วบางทีมันก็อาจทำให้เราลืมกินยาก็เป็นได้ ในกรณีที่ลืมกินยาให้ข้ามไปไม่ต้องกินยานั้นเพิ่ม แล้วควรเตือนตัวเองให้ทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืมอีก เพราะมันมีผลต่อการรักษา

7. จดบันทึกอาการเมื่อเราเริ่มกินยารักษาโรคซึมเศร้า

เราจำเป็นต้องฝึกสังเกตอาการตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มกินยารักษาโรคซึมเศร้าและควรจดบันทึกอาการเพื่อนำไปพูดคุยกับจิตแพทย์ถึงผลที่ได้รับว่าดีขึ้นหรือแย่ลงยังไง เพราะส่วนใหญ่เวลาไปพบจิตแพทย์ที่รักษาเราจริง ๆ เวลาคุณหมอถามอาการเรามักจะลืม นึกไม่ออก หรือกลับมาถึงบ้านแล้วเพิ่งนึกขึ้นได้ การจดบันทึกอาการช่วยได้มากค่ะ และควรไปพบจิตแพทย์ตามที่นัดหมาย เพื่อให้จิตแพทย์ประเมินอาการได้อย่างต่อเนื่องและสามารถปรับยาได้เหมาะสมกับเราได้มากขึ้น หากเรามีข้อสงสัยหรือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า  ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่รักษาเรา เพื่อที่เราจะได้เข้าใจและวางใจในการรักษาได้มากขึ้นด้วยค่ะ

จีหวังว่าบทความแชร์ประสบการณ์การกินยารักษาโรคซึมเศร้าให้ได้ผลดีนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ในการช่วยให้ตระหนักรู้ในการกินยารักษาโรคซึมเศร้าให้ได้ผลดีมากขึ้นนะคะ และสิ่งสำคัญการบำบัดโรคซึมเศร้าควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้นอีกทั้งยังป้องกันการกลับมาป่วยซ้ำได้อีกด้วยค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ

Cr.Photos by Pixabay.com

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม>>>

7 เคล็ดลับ เอาชนะโรคซึมเศร้าด้วยตัวเราเอง

2 COMMENTS

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here