ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) คืออะไร? แล้วมันเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้ายังไง? เมื่อคนเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตจนส่งผลให้เราอยู่ในภาวะที่กดดัน เครียดและวิตกกังวล หากเราอยู่ในภาวะกดดันนานเกินไปและไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ มันอาจส่งผลให้เรามี “ภาวะการปรับตัวผิดปกติ” หรือที่เรียกว่า “โรคเครียด” ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราเป็นอย่างมาก และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันสามารถส่งผลให้เราป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้ จีจึงนำข้อมูลและประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวการมีภาวะปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) มาแชร์เพื่อเป็นประโยชน์กันค่ะ
ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) คืออะไร?
ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) เกิดจากภาวะความกดดันที่เราไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต จนส่งผลให้เกิดความเครียดและเกิดอาการทางคลินิกตามมา โดยมีอาการนานไม่เกิน 6 เดือน จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวชที่เป็นแบบ non-psychotic ซึ่งสามารถหายเป็นปกติได้ หรือทางการแพทย์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคเครียด”
โดยปกติธรรมดาของคนเราเมื่อเราต้องเผชิญกับภาวะกดดัน ความผิดหวังหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เรามักจะรู้สึกกดดัน เครียด วิตกกังวล สับสน เศร้า เสียใจ หงุดหงิดใจเป็นธรรมดา ซึ่งมันเป็น ปฏิกิริยาการปรับตัวปกติของจิตใจเรา (Adjustment reaction / normal reaction) หรือกลไกลการป้องกันตัวของมนุษย์เราเหมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยเพื่อให้เราสามารถปรับตัวปรับใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
แต่ถ้าหากเรายังไม่สามารถก้าวข้ามภาวะความกดดัน ความเครียดที่เกิดขึ้นได้ วนและจมอยู่กับความรู้สึกลบ ๆ ยาวนานเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราแบบที่เรียกว่า “เสียศูนย์” ก็มีแนวโน้มว่าเราจะกลายเป็น “โรคเครียด” หรือทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) นั่นเอง
สัญญาณเตือนภัยที่บ่งบอกว่าเรามีแนวโน้มที่จะมีภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) ก็คือ มีความเครียดสูงมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการทำงาน ความสัมพันธ์ การเข้าสังคม การกิน การนอนผิดปกติไปหมด หมกมุ่นครุ่นคิดจนไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรเลย มีพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง หรือมีความคิดและพฤติกรรมทำร้ายตัวเองและมีความคิดฆ่าตัวตาย
ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้ายังไง?
“โรคเครียด” หรือ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จีต้องการแชร์ประสบการณ์และข้อมูลความรู้ความเข้าใจให้กับเพื่อน ๆ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อสร้างความเข้าใจเพราะมันเป็นอีกหนึ่งต้นตอสำคัญที่ส่งผลให้จีป่วยเป็นโรคซึมเศร้ายาวนาน อีกทั้งยังส่งผลให้จีกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำที่รุนแรงอีกด้วย
จากประสบการณ์ความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าของจีในครั้งแรก จิตแพทย์วินิจฉัยว่าจีเป็น “โรคเครียด” ซึ่งตอนนั้นจีประสบกับปัญหาการหย่าร้างและการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้จีต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิตรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายที่อยู่ การงาน การเงิน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งมันส่งผลให้จีมีความรู้สึกผิดหวัง เศร้าเสียใจ กดดัน มีความเครียดและความวิตกกังวลสูงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จีไปพบจิตแพทย์ตอนที่อาการรุนแรงแล้ว หลังจากนั้นจีก็ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า“
แล้วจีก็กลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำอีกครั้งในครั้งที่สอง การวินิจฉัยของจิตแพทย์เป็นไปในแบบเดียวกับครั้งแรก คือ ภาวะปรับตัวผิดปกติ (Adjustment Disorder) แล้วก็กลายเป็นโรคซึมเศร้า ตามมาด้วยโรควิตกกังวล และแพนิกตามลำดับ ซึ่งจีเองนอกจากจะกินยารักษาโรคซึมเศร้าแล้วจำเป็นต้องได้รับการบำบัดมากมาย เพื่อที่จะช่วยให้จีสามารถปรับตัวปรับใจรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่เดินอยู่บนเส้นทางความเจ็บป่วยและฟื้นฟูเยียวยาบำบัดทั้งร่างกาย สมองและจิตใจ รวมทั้งการเยียวยาความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและสังคมจนจีสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
สำหรับใครที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคเครียดหรือมีภาวะปรับตัวผิดปกติ(Adjustment Disorder) แล้วกลับกลายเป้นโรคซึมเศร้าเหมือนจี ก็ขอแนะนำว่านอกจากจำเป็นต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างมีวินัยและไปพบคุณหมอตามนัดแล้ว และจำเป็นต้องมองหาการบำบัดที่เหมาะสมที่จะช่วยให้เราฝึกรับมือและจัดการกับความคิดและจิตใจเราที่มันเปลี่ยนแปลงไปในด้านลบให้ดีขึ้นด้วย เพราะถ้าหากกินยารักษาอย่างเดียวก็จะต้องเสียเวลาในการรักษายาวนานแบบจีแล้วยังมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้กลับไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำอีก เพราะยาไม่สามารถช่วยปรับความคิดและจิตใจเราให้ดีขึ้นได้ เราจำเป็นต้องฝึกปรับตัวปรับใจกับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ดีขึ้น
หากใครเข้าข่ายการมีภาวะปรับตัวผิดปกติ(Adjustment Disorder) ก็อย่ารอให้สถานการณ์ในชีวิตเลวร้ายลงหรือละเลยในเรื่องนี้ เพราะการปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะสามารถช่วยให้เราก้าวข้ามผ่านภาวะการปรับตัวผิดปกตินี้ไปได้ แต่ถ้าหากใครชะล่าใจอาจจะต้องทุกข์ทรมานเหมือนกับจีเพราะภาวะการปรับตัวผิดปกตินี้หากเราไม่ได้รับการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญมันสามารถพัฒนากลายไปเป็นโรคซึมเศร้าได้

อ้างอิง : สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : การบำบัดโรคซึมเศร้าที่ได้ผลดีที่สุด
![]() |
|
[…] […]
[…] การหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ส่งผลให้จีกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าซ้ำและมีอาการรุนแรงอีกครั้ง ช่วงประมาณกลางปี พ.ศ. 2558 หลังจากจีย้ายไปอยู่ประเทศออสเตรเลียได้ประมาณปีกว่า จีได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมีภาวะการปรับตัวผิดปกติ(Adjustment Disorder) หลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วจีพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อต้องการรักษาแบบไม่ใช้ยา แต่ด้วยอาการที่รุนแรงจึงจำเป็นต้องกลับไปรักษาด้วยยา เมื่อได้พูดคุยรายละเอียดถึงอาการและประวัติการรักษาที่ผ่านมาทำให้จีได้รู้ว่าอาการที่ผ่านมาในการป่วยครั้งก่อนเข้าข่ายอาการของไบโพลาร์ มันทำให้จีสับสนว่าตกลงเราป่วยเป็นอะไรกันแน่และมีความกลัว ความวิตกกังวลว่าจะกลับไปมีอาการรุนแรงแบบเดิมอีก แต่จิตแพทย์บอกว่าไม่เป็นหรอก แล้วจัดยามาให้รวมทั้งนัดหมายเพื่อทำจิตบำบัดกับนักจิตวิทยาด้วย […]
[…] Adjustment Disorder […]